สมาคมภัตตาคารประกาศพร้อมเป็นตัวกลางประสานโรงพยาบาล-ผู้ประกอบการร้านอาหาร สำหรับจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบ Home Isolation ด้าน สปสช. แนะเพื่อความรวดเร็วในการเบิกเงิน ให้มีหลักฐานการเบิกเงินที่ระบุตัวตนผู้รับอาหารให้ชัดเจน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนาทาง Facebook Live ในวันที่ 19 ม.ค. 2565 ในประเด็นเรื่อง การจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน Home Isolation โดยมี พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. และ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ร่วมพูดคุย
พญ.กฤติยา กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ยุคนี้ เข้าสู่ยุคของสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งส่วนมากผู้ติดเชื้อ 90-95% ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย โดยทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศนโยบายรักษาที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) และการรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation หรือ CI) เป็นทางเลือกแรก ขณะที่ สปสช.เป็นกองทุนสำหรับจ่ายค่ารักษา รวมถึงค่าอาหารด้วยในราคา 400 บาท/วัน โดยกรณีเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมค่าอาหารจะจ่ายอยู่ 1,000 บาท/วัน แต่ถ้าจัดบริการรักษาพยาบาลอย่างเดียวไม่รวมค่าอาหารจะจ่ายที่ 600 /วัน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 วัน และจะมีการปรับหลักเกณฑ์ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 นี้ โดยปรับเป็นการเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย กรณีรักษา 7 วันขึ้นไป จ่ายค่าดูแลรวมค่าอาหาร 12,000 บาท แต่หากไม่รวมค่าอาหารจะอยู่ที่ 8,000 บาท
พญ.กฤติยา กล่าวจากการติดตามประเมินผลการจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบ Home Isolation ในการระบาดระลอกที่ 4 เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา พบปัญหาว่ามีผู้ป่วย Home Isolation 27.76% ที่ไม่ได้รับอาหารเลย อีก 5.6% ได้รับอาหารเป็นบางวัน และอีก 66.63% ได้รับอาหารทุกวัน ซึ่งในการรับมือการระบาดระลอกที่ 5 นี้ สปสช.พยายามลดส่วนที่ไม่ได้รับอาหารให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายค่าอาหารจากผู้ประกอบการ เช่น ไม่พบหลักฐานการจัดส่งอาหารหรือรับอาหารตามวันที่ขอเบิก หรือ มีหลักฐานการจัดซื้ออาหารแต่ไม่พบหลักฐานการบริการอาหารรายบุคคล หรือส่งภาพหลักฐานหน้าจอการสนทนาทางไลน์ซึ่งไม่มีวันที่และ Line ID ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริง ดังนั้นเพื่อความราบรื่นในการเบิกจ่ายค่าอาหาร ผู้ประกอบการควรมีมีหลักฐานที่บ่งบอกชื่อ-นามส่งสกุลผู้ติดเชื้อ หรือหลักฐานการจัดอาหารจากผู้ผลิตอาหารจัดส่งให้ผู้ติดเชื้อตามจำนวนวันที่เบิกเป็นรายบุคคล หรือหลักฐานการรับอาหารของผู้ติดเชื้อหรือญาติ ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินค่าอาหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ด้านนางฐนิวรรณ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทางสมาคมฯสามารถเป็นโซลูชั่นหรือตัวกลางแก่หน่วยบริการในการจัดหาอาหารและการขนส่ง ซึ่งนอกจากประกอบอาหารและจัดส่งแล้ว สมาคมฯยังมีแพล็ตฟอร์มอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น มีแอปพลิเคชัน "ปันสุข" ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดตามได้ว่าอาหารส่งถึงไหนแล้ว แพ้อาหารอะไรก็สามารถแจ้งได้ เมนูต่างๆอิงกับมาตรฐานโภชนาการ ได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน มีบริการ Call Center และมีการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่ สปสช.หรือกระทรวงสาธารณสุข สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ 12 เดือน
"สมาคมมีเครือข่ายสมาชิกที่พร้อมให้บริการประชาชน และนอกจากเครือข่ายของสมาคมภัตตาคารไทยแล้ว เรายังมีสมาคมหรือชมรมผู้ประกอบการอาหารอื่นๆ ที่ได้มาตรฐาน Clean food good teste จากกรมอนามัย ซึ่งในรอบที่ผ่านมาสมาคมภัตตาคารไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ดูแล ได้ประมาณ 270,000 คน ใน กทม. สามารถทำได้ 30,000 กล่อง ส่วนในต่างจังหวัดก็มีสมาคม/ชมรมร้านอาหารในทุกจังหวัด ซึ่งสมาคมฯพร้อมเป็นคนกลางประสานงานให้ในพื้นที่" นางฐนิวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี นางฐนิวรรณยังสะท้อนปัญหารในการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาให้ สปสช. ทราบว่ารัฐสนับสนุนค่าอาหารที่ 400 บาท/3 มื้อ แต่มีผู้ที่ได้รับงานจากโรงพยาบาลต่างๆแล้วมาจ้างต่อในราคา 145 บาท/3 มื้อ หรือมื้อละ 45-50 บาท จึงทำให้บางส่วนได้อาหารตามราคา ดังนั้นทั้งผู้ป่วยและผู้ประกอบการควรจะได้ทราบสิทธิที่รัฐบาลดูแล นอกจากนี้ ในขั้นตอนในการส่งมอบงานต้องมีการใช้เอกสารจำนวนมากตามระบบราชการ มีต้นทุนค่าบริหารจัดการ ดังนั้นจึงอยากฝาก สปสช. กำหนดเป็นนโยบายในภาพใหญ่ให้สามารถใช้ระบบออนไลน์ในการส่งมอบงานได้ รวมทั้งระยะเวลาการเบิกเงิน 60 วันก็ค่อนข้างนาน
ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วย Home Isolation กับทางสมาคมฯ หรือมีโรงพยาบาลทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ต้องการให้สมาคมฯประสานงานกับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ให้ สามารถส่งข้อความมาได้ที่ inbox ข้อความของเพจเฟสบุ๊ก สมาคมภัตตาคารไทย - Thai Restaurant Association (https://www.facebook.com/Thairestaurantasso) ซึ่งจะมีแอดมินหลายคนคอยดูแลประสานงานต่างๆให้
ด้าน พญ.กฤติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของปัญหาการเบิกจ่ายค่าอาหารล่าช้า เนื่องจากตามระเบียบแล้ว สปสช.สามารถจ่ายเงินให้เฉพาะหน่วยบริการ ดังนั้นเงินค่าอาหารจะถูกจ่ายไปที่โรงพยาบาล แล้วจึงเป็นกระบวนการภายในของโรงพยาบาลที่จะเบิกจ่ายเงินแก่ร้านอาหาร ซึ่งด้วยความที่ระบบ Home Isolation เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีความติดขัด แต่ สปสช. ได้รับทราบปัญหาและปรึกษากับทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สตง.มีข้อชี้แนะว่าในส่วนของค่ารักษาให้นำเข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล ส่วนค่าอาหารสำหรับ Home Isolation ให้ทำเป็นเงินรับฝาก เมื่อร้านอาหารมาเบิกค่าอาหารก็สามารถนำออกมาจ่ายโดยไม่ต้องเอาเงินภายในโรงพยาบาล ทำให้กระบวนการเบิกเงินง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ชี้แจงหน่วยบริการไปแล้วคาดว่าในระยะต่อไปหน่วยบริการจะมีความเข้าใจกระบวนการมากขึ้น