สธ. เปิดแนวทางปฎิบัติดูแลกลุ่มเปราะบางในระบบ Home Isolation

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อหลังช่วงปีใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มช่วงอายุ ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จึงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาแบบ Home Isolation (HI) ได้
อย่างไรก็ตาม ในการดูแลด้วยระบบ HI จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังในระบบ HI ได้แก่ สตรีมีครรภ์ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน อายุมาก และยังไม่ได้รับวัคซีน, กลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว หรือยังไม่รับวัคซีน และกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง เช่น โรคอ้วน หัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เป็นต้น


นพ.สุวรรณชัย ยังได้กล่าวถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ให้สังเกตตนเองว่า เป็นผู้ที่พักอาศัย หรืออยู่ร่วมบ้านผู้ติดเชื้อโควิด หรือผู้ที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน สถานประกอบการ นอกจากนนี้ ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ หายใจหอบ และหายใจลำบาก รวมถึงผู้ที่มีประวัติเดินทาง หรือไปในสถานที่เสี่ยง เช่น มีผู้คนแออัด เป็นพื้นที่ปิด มีระบบระบายอากาศไม่ดี ก็คววรได้รับการตรวจหาเชื้อด้วยเช่นกัน


นพ.สุวรรณชัย ได้กล่าวถึงกรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ Hospitel โดยผู้ปกครองควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้


ส่วนกรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแลหากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลต่อไป หรืออาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็กต่อไป


นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการปฏิบัติตนเมื่อต้องแยกกักตัว สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูง สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ผ่านการดูแลของแพทย์ทาง Telemedicine หากจำเป็น รับประทานยาบำรุงครรภ์ได้ตามปกติ


ทั้งนี้ แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการเจ็บท้อง ท้องแข็งบ่อย เลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำใสๆ ไหลออกทางช่องคลอด ถ้ามีอาการให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลโดยทันที นอกจากนี้ แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการของครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี ถ้ามีอาการให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลโดยทันที


"กรณีสตรีมีครรรภ์จำเป็นต้องได้รับบูสเตอร์โดสเหมือนบุคคลทั่วไป เนื่องจากวัคซีนสองเข็มไม่เพียงพอต่อการป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขอรณรงค์ให้สตรีมีครรภ์ไปฉีดวัคซีน เนื่องจากสตรีมีครรภ์ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน" นพ.เอกชัย กล่าว
ส่วนกลุ่มเด็กเล็ก ต้องมีอุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามอาการ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือคลิปวิดีโอ สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้มื่อสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช่สิ่งของร่วมกับเด็กที่ติดเชื้อ


ทั้งนี้ ระดับอาการของเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 อาการในระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตที่บ้านต่อไปได้ คือ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก มีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหาร หรือนมได้ปกติ และไม่ซึม ส่วนแบบที่ 2 อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง ไม่ดูดนม และไม่กินอาหาร


สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อที่แยกกักตัวที่บ้าน HI ต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุไม่เกิน 75 ปีบริบูรณ์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และควรได้รับวัคซีนครนตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้วก็สามารถกักตัวที่บ้านได้ ให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อหรือญาติ คอยสังเกตอาการผู้สูงอายุ โดยวัดอุณหภูมิ และ Oxygen saturation ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อยวัดคำออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้อยู่ที่ 96-100% ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที


"ผู้ที่แยกกักตัวในบ้าน HI ถือเป็นผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอาการของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด จึงขอให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำกรมอนามัย ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวต้องคอยมั่นสังเกตอาการ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตลอดเวลาในช่วงของการแยกกักตัวด้วย" นพ.เอกชัย กล่าว