ภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด คือ ภาวะที่มีก้อนซึ่งเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดดำในอัณฑะ แม้จะไม่มีวิธีการหรือยาป้องกันการเกิดภาวะนี้ แต่เมื่อเป็นแล้วย่อมมีทางรักษาให้หายได้
คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดมาบ้างแล้ว ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นบริเวณขา แต่คุณอาจยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดมาก่อน โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในเพศชาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณขา แต่จะเกิดขึ้นบริเวณของสงวน ภาวะนี้ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด และมีลักษณะอาการคล้าย ๆ กับการเป็นเส้นเลือดขอดบริเวณขานั่นเอง
แล้วภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดคืออะไร และเราจะเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้หรือไม่?
ภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดคืออะไร
ผู้ชายทุกคนจะมีส่วนที่เรียกว่า ท่อนำอสุจิ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ เส้นประสาท และท่อ ทำหน้าที่เชื่อมต่อและส่งเลือดไปยังลูกอัณฑะ โดยเส้นเลือดดำจะคอยไหลเวียนเลือดกลับไปสู่หัวใจและลิ้นในหลอดเลือดดำจะทำหน้าที่ช่วยในการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำให้ไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องและเข้าสู่หัวใจได้สะดวก
แต่หากลิ้นในหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้หลอดเลือดดำมีเลือดไหลกลับสู่หัวใจได้น้อยหรือไหลไม่ได้ก็จะเกิดการคั่งในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดดำมีลักษณะโป่งนูนและบวมขึ้นมา จึงเรียกภาวะนี้ว่าภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
ใครจะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้บ้าง
ไม่มียาหรือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด และภาวะนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ชายทุกคน อย่างไรก็ตาม มันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นั่นเป็นเพราะช่วงที่เด็กผู้ชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ อัณฑะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีเลือดไหลเวียนสู่อัณฑะจำนวนมาก หากลิ้นในหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ หลอดเลือดก็จะไม่สามารถรับเลือดที่ไหลเวียนมาเป็นจำนวนมากได้ทัน แม้เส้นเลือดบางส่วนจะทำงานเป็นปกติ แต่เส้นเลือดบางเส้นกลับมีปัญหาจนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดได้
ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับถุงอัณฑะด้านซ้าย นั่นเป็นเพราะเลือดมีการไหลเวียนได้ดีกว่าทางด้านขวา ส่งผลให้ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับถุงอัณฑะด้านซ้ายมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับถุงอัณฑะทั้ง 2 ข้าง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
สัญญาณบ่งบอกภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีภาวะนี้จะไม่มีอาการใด ๆ ดังนั้น ผู้ที่เป็นอาจไม่ทราบเลยว่าเขากำลังมีภาวะนี้อยู่ และหากมีอาการก็มักจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อน หลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเมื่อยืนและนั่งนานเกินไป
อาการที่อาจแสดงออกมา ดังนี้
- มีอาการปวดชาบริเวณลูกอัณฑะ
- รู้สึกปวดหน่วงในถุงอัณฑะ
- รู้สึกได้ว่ามีหลอดเลือดดำโป่งนูนออกมา คล้าย ๆ กับหนอนหรือเส้นสปาเก็ตตี้
- รู้สึกอึดอัดและไม่สบายบริเวณลูกอัณฑะหรือภายในด้านใดด้านหนึ่งของถุงอัณฑะ
- ลูกอัณฑะด้านที่มีหลอดเลือดขอดมีขนาดเล็กกว่าอีกด้าน เนื่องจากมีความแตกต่างของการไหลเวียนโลหิต
การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
แพทย์แนะนำให้มีการตรวจอัณฑะเป็นประจำ ซึ่งการตรวจดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายประจำปีของคุณผู้ชายด้วย วิธีการตรวจอัณฑะด้วยตาเปล่า คือ การตรวจคลำอัณฑะและบริเวณโดยรอบโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าอัณฑะไม่มีก้อนเนื้อหรือความผิดปกติใด ๆ
การตรวจอัณฑะสามารถทำได้ในขณะที่ผู้ถูกตรวจยืนเพื่อให้อัณฑะหย่อนคลาย และการตรวจหาภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดสามารถตรวจเจอได้ง่ายในท่าดังกล่าว จากนั้นแพทย์จะตรวจเช็กขนาด น้ำหนัก และตำแหน่งของอัณฑะ แล้วจึงค่อย ๆ คลำลูกอัณฑะเพื่อตรวจดูความผิดปกติว่ามีก้อนเนื้อหรือมีการบวมตรงจุดใดหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจหาสัญญาณความผิดปกติของหลอดเก็บอสุจิโดยการกดด้วย
นอกจากนี้ แพทย์ยังตรวจเช็กท่อนำอสุจิด้วยว่ามีความผิดปกติหรือมีลักษณะบวมหรือไม่ หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด แพทย์จะแนะนำให้มีการตรวจอัลตร้าซาวด์ต่อไป ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์อัตราการไหลเวียนโลหิตและสามารถระบุตำแหน่งที่มีเส้นเลือดขอดได้
การรักษาภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอดส่วนใหณ่แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะเจาะจง เนื่องจากภาวะดังกล่าวไม่ได้เป็นอันตรายและไม่ได้ส่งผลถึงสมรรถนะทางเพศหรือการมีบุตรแต่อย่างใด และหากมีอาการปวดบวม แพทย์จะสั่งยาแก้อักเสบให้ผู้ป่วยทานเพื่อบรรเทาอาการปวด และหากภาวะนี้ทำให้คุณรู้สึกอึดอัดและไม่สบายบริเวณอัณฑะ แนะนำให้สวมกางเกงชั้นในที่กระชับหรือกางเกงกระจับก็จะช่วยให้คุณรู้สึกสบายขึ้นได้
หากแพทย์วินิจฉัยว่าภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อลูกอัณฑะหรือยังมีอาการปวดแม้จะสวมกางเกงในแบบกระชับรองรับแล้วก็ตาม แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะอธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัดให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัดแต่ละวิธี และหาแนวทางการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย
โดยปกติแล้วการรักษาสามารถทำได้โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล เมื่อผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาชา จากนั้นแพทย์จะผูกเส้นเลือดที่มีปัญหาเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินเลือดไปยังเส้นเลือดที่ไม่มีปัญหา
สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดดังเช่นที่กล่าวมา แต่แพทย์จะรักษาด้วยการใส่หลอดพลาสติกเข้าไปในหลอดเลือดที่มีปัญหา เพื่อปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดเส้นนั้นเป็นการหยุดไม่ให้เลือดขอด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ว่าการรักษาแบบนี้เหมาะสมกับคุณและอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาได้หรือไม่
หลังจากการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสวมกระจับพยุงและใช้เจลเย็นประคบบริเวณที่ผ่าตัดไว้เพื่อลดอาการบวม คุณอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายบริเวณนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นอาการปวดบวมจะค่อย ๆ หายไปและทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล :
http://kidshealth.org/en/teens/varicocele.html
https://hd.co.th/varicose-veins-testicle