ภาวะเปลือกตาตก (Eyelid disorders)

“เปลือกตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายแก่ดวงตาแล้ว ยังเป็นอวัยวะที่สะท้อนรูปลักษณ์ภายนอกของแต่ละบุคคล ความผิดปกติของเปลือกตาอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพตาและความงาม ทั้งนี้  โรคของเปลือกตาจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์”
          เปลือกตาเป็นอวัยวะที่อยู่หน้าสุดของดวงตา มีหน้าที่ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดแก่ลูกตา ป้องกันฝุ่นผง แสงจ้า ช่วยกระจายน้ำเพื่อชะล้างฝุ่นละออง และทำให้ดวงตาชุ่มชื้น

ความผิดปกติของเปลือกตา
           โรคของเปลือกตา โดยส่วนใหญ่เป็นภาวะที่เกิดตามอายุที่มากขึ้น อวัยวะบริเวณรอบดวงตา ได้แก่ ผิวหนัง คิ้ว และเปลือกตา เริ่มมีการหย่อนคล้อย ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis), ภาวะเปลือกตาหย่อน (dermatochalasis) และภาวะคิ้วตก (brow ptosis)
           ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว อาจรู้สึกว่าดวงตาของตนเองดูเล็กลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อน หรือดวงตาทั้ง 2 ข้าง เริ่มดูไม่เท่ากัน ถ้าเปลือกตาตกหรือหย่อนมากจนลงมาบังลูกตาอาจทำให้มีปัญหาในการมองเห็น ทำให้บางครั้งผู้ป่วยต้องเงยหน้าขึ้นมอง หรือใช้นิ้วยกเปลือกตา เพื่อช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น
           ภาวะเปลือกตาตก มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการเปิดปิดตา ซึ่งผู้ป่วยอาจมีภาวะตาเข หรือมองเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย ความผิดปกติของสารสื่อประสาทบริเวณกล้ามเนื้อเปลือกตาผิดปกติ ส่งผลให้เปลือกตาตกเป็นบางช่วงเวลา เช่น เปลือกตาตกเฉพาะช่วงบ่าย หรือเกิดจากการมีก้อนเนื้อบริเวณเปลือกตา อุบัติเหตุบริเวณเปลือกตา หรือเปลือกตาอักเสบ

อาการของภาวะเปลือกตาตก
          ภาวะเปลือกตาตก โดยทั่วไปเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะบริเวณรอบ ๆ ใบหน้าตั้งแต่คิ้ว เปลือกตา ผิวหนังจะหย่อนคล้อยลง ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาหย่อน หรือเปลือกตาตกลงมา ผู้ป่วยอาจสังเกตพบว่าตาดูเล็กลง หรือตา 2 ข้าง ดูไม่เท่ากัน บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็นเนื่องจากเปลือกตาหย่อนลงมาบังลูกตา บางคนมีปัญหาเวลาออกกำลังกายเหมือนมีเหงื่อเข้าที่หางตา

สาเหตุของภาวะเปลือกตาตก
           โดยทั่วไปภาวะเปลือกตาตกไม่อันตราย ตามธรรมชาติคนที่อายุมากขึ้นสามารถพบได้ แต่ที่ต้องระวัง คือ มีภาวะเปลือกตาตกบางภาวะที่เป็นอันตราย เช่น เปลือกตาตกฉับพลัน เปลือกตาตกระหว่างวันไม่เท่ากัน เช่น ตอนเช้าตาโต ตอนเย็นตาตก หรือทำงานไปนาน ๆ แล้วเปลือกตาตก ต้องระวัง เพราะอาจเกี่ยวข้องกับภาวะของเส้นประสาทที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติ
           การประเมินภาวะเปลือกตาตกต้องดูก่อนว่าอาการค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นโดยฉับพลัน ถ้าตาตกขึ้นมาโดยฉับพลัน มีความผิดปกติของการมองเห็น มีภาวะตาเข ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินความผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มเติม และหาสาเหตุของภาวะตาตกฉับพลัน

อาการผิดปกติจากภาวะอื่นที่ต้องรีบพบแพทย์
           1. การมองผิดปกติ/เห็นภาพซ้อน
           2. ตาเข กรอกตาได้ไม่สุด
           3. ปวดศีรษะรุนแรงร่วมด้วย
           4. ปากเบี้ยว ดื่มน้ำแล้วมีน้ำไหลออกจากมุมปาก

แนวทางการรักษา
          หากสาเหตุเกิดจากอายุมากขึ้น การผ่าตัดขึ้นอยู่กับว่าเป็นภาวะเปลือกตาตก หรือเปลือกตาหย่อน
          1. ภาวะเปลือกตาหย่อน แพทย์จะตัดเปลือกตาที่หย่อนส่วนเกินออกไปแล้วเย็บชั้นตาทำให้ตา 2 ข้างเท่ากัน
          2. ภาวะเปลือกตาตก การผ่าตัดอาจใช้เวลานานกว่าภาวะเปลือกตาหย่อน เพราะต้องมีการยกกล้ามเนื้อตาขึ้นมาให้ตาดูโตขึ้น ส่วนมากการผ่าตัดไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ผ่าตัดเสร็จแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ และหลังจากนั้น 7 วัน แพทย์จะทำการนัดมาตัดไหม
          ในเรื่องเปลือกตาหย่อนและเปลือกตาตก ให้สังเกตว่าอาการค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป หรือไม่ หากค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ส่วนมากเป็นภาวะเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นว่าหากมีอาการบังการมองเห็นเยอะจริง ๆ จึงควรรักษา แต่หากเป็นฉับพลันร่วมกับมีอาการภาพซ้อน ตาเข หรือมีปวดศีรษะร่วมด้วย ให้มาตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นภาวะที่รุนแรงหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก  : นายแพทย์ทัศพล  สิงคาลวณิช
                                  จักษุแพทย์ สาขาเบ้าตาและศัลยกรรมตกแต่งเปลือกตา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
                                : https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=1368