บ้านหมุน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vertigo เป็นอาการที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ที่ตนเองอยู่กับที่ ซึ่งอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนนี้อาจส่งผลต่อการทรงตัว และทำให้ผู้ที่มีอาการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ดี อาการนี้มีสาเหตุจากหลายโรคที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่คนส่วนใหญ่คงเคยประสบพบเจอ แต่บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน คือ รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ที่ตนเองอยู่กับที่ ซึ่งอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนนี้อาจส่งผลต่อการทรงตัว และทำให้ผู้ที่มีอาการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ดี อาการนี้มีสาเหตุจากหลายโรคที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         อาการเวียนศีรษะ เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจหมายรวมถึงอาการมึนศีรษะ วิงเวียน งง รู้สึกโคลงเคลง ทรงตัวไม่ค่อยได้ มีความรู้สึกลอย ๆ หวิว ๆ มีอาการตื้อในศีรษะ ในทางการแพทย์จะแบ่งอาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
        -อาการมึนเวียนศีรษะ (dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
        -อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) จะหมายถึงเฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนหรือโคลงเคลงเท่านั้น
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้ง ๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้ สำหรับโรคที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ได้แก่
         1.โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (benign paroxysmal positioning vertigo: BPPV) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้ คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยิน หรือเสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคหูอยู่ก่อนแล้ว) รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง
         สาเหตุ
         โรคนี้จะพบตะกอนแคลเซียมสะสมอยู่ในบริเวณอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะเกิดการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนแคลเซียมนี้ ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้เมื่อน้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหว จึงมีผลไปกระตุ้นอวัยวะการทรงตัว ทำให้เกิดการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้น
        ลักษณะอาการ
        โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจะมีอาการเฉพาะ คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ โดยมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น ขณะล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน ขณะพลิกตัวในที่นอน ก้มดูของหรือเงยหน้าขึ้นข้างบน แต่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมักเป็นอยู่ในช่วงสั้น ๆ มักเป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมอาการก็อาจกลับมาใหม่ได้ แต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ทั้งนี้ อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจเป็นได้หลาย ๆ ครั้งต่อวัน มักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน และอาจกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาอีกหลายเดือนหรือเป็นปี หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่โรคนี้จะไม่พบอาการหูอื้อ การสูญเสียการได้ยิน หรือมีเสียงผิดปกติในหู
        การตรวจวินิจฉัย
        -การซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ ปัจจัยหรือท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
        -การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท
        -การตรวจจำเพาะ ได้แก่ การทดสอบ Dix-Hallpike maneuver ซึ่งเป็นการทดสอบที่จำเพาะกับโรคนี้ โดยจะให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายอย่างรวดเร็ว ในท่าศีรษะตะแคงและห้อยศีรษะเล็กน้อย หากพบการกระตุกของลูกตาร่วมกับอาการเวียนศีรษะ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้
        -การตรวจการได้ยิน
     แนวทางการรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
         1. การรักษาตามอาการและให้คำแนะนำ เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ โดยมากอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงโดยเฉพาะหลัง 1 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ดี โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนยังไม่มียาจำเพาะสำหรับการรักษา
         2.ทำการบำบัด,รักษา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบันและได้ผลในการรักษา
-การทำบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูน ได้แก่ วิธีของ Semont และ Epley (canalith repositioning therapy)
-การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้เกิดการปรับสภาพของสมองได้เร็วขึ้น ได้แก่ Brandt และ Daroff หรือวิธี Cawthorne vestibular exercise
ในปัจจุบัน การทำการบำบัดรักษาโดยวิธี canalith repositioning therapy การผ่าตัด หากการรักษาตามอาการและ การทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
         2.โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซหรือล้มได้ง่าย อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีการได้ยินลดลง และมีเสียงดังในหู บางครั้งอาจพบอาการหูอื้อได้ด้วย
         


โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ

         โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือที่มักเรียกกันว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ 20-50 ปี โดยเพศชายและเพศหญิงจะมีอัตราการเกิดโรคนี้ในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน
        สาเหตุ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน
        ลักษณะอาการ
        อาการหลัก ได้แก่ อาการเวียนศีรษะ มักจะเป็นอาการเวียนศีรษะรุนแรงและมีความรู้สึกหมุนร่วมด้วย บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับการสูญเสียสมดุลของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เซหรือล้มได้ง่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมงเลยก็ได้ ในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจึงควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้น
        อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่
        1.การได้ยินลดลง มักพบในช่วงระยะแรกของโรค มักเป็นชั่วคราว โดยที่การได้ยินจะลดลงในช่วงเกิดอาการเวียนศีรษะ เมื่อร่างกายกลับสู่ภาวะปกติการได้ยินจะดีขึ้น แต่หากปล่อยให้โรคดำเนินไปมากขึ้น การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ในที่สุด
        2.อาการเสียงรบกวนในหูและอาการหูอื้อ อาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้ในช่วงระยะแรกของโรค บ่อยครั้งอาจพบว่าเสียงรบกวนในหูจะดังมากขึ้นหรือผู้ป่วยมีอาการหูอื้อมากขึ้นเมื่อจะเกิดอาการเวียนศีรษะ แต่ในระยะหลัง ๆ ของโรค อาการนี้อาจเป็นอยู่ตลอดไป
        การตรวจวินิจฉัย
       1.การซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะอาการเวียนศีรษะ ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการ อาการทางหูที่เกิดร่วมด้วย
       2.การซักประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติโรคซิฟิลิส โรคคางทูม โรคการอักเสบของตา โรคภูมิคุ้มกัน โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคทางระบบประสาท ประวัติการผ่าตัดหูในอดีต
       3.การตรวจร่างกาย เช่น
       -การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท
       -การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย
       -การตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน (videoelectronystagmography: VNG)
       -การตรวจดูการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ
       4.การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น
       -การตรวจการได้ยิน (audiogram)
       -การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (electronystagmography)
       -การตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (evoke response audiometry)
       -การตรวจวัดแรงดันของน้ำในหู (electrocochleography)
      5.การตรวจพิเศษทางรังสี (ในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัวหรือความผิดปกติสมอง) เช่น ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
แนวทางการรักษา
       -การใช้ยารักษาตามอาการตามแพทย์สั่ง
       -การผ่าตัด สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้จากการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัด
        ข้อควรปฏิบัติสำหรับโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ
       -รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่และถูกต้องตามหลักอนามัย
       -หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด ควบคุมการบริโภคเกลือ น้ำปลา ไม่ให้มากเกินไป
       -หลีกเลี่ยงกาแฟ ช็อกโกแลต และอาหารที่มีคาเฟอีน
       -นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
       -ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
       -หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก ๆ เช่น ทำงานติดต่อกันนานเกินไป หรือออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป
       -หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด
       -ในรายที่เกิดอาการเวียนศีรษะทันทีโดยไม่มีอาการเตือน ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเสี่ยงอันตราย เช่น การขับขี่ยานพาหนะ การปีนป่ายที่สูง เป็นต้น
      3.โรคอื่น ๆ เช่น
      1.การอักเสบของหูชั้นใน (labyrinthitis) พบจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงและเป็นอยู่หลายวัน แต่ผู้ป่วยมักมีการได้ยินที่ปกติ อาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหูน้ำหนวกแล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการมักรุนแรงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย
       2.โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน (acoustic neuroma) ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับการได้ยินลดลง บางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู สำหรับรายที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น อัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่น ๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดทับเนื้อสมอง
       3.โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (vestibular neuronitis) มักจะพบอาการเวียนศีรษะตามหลัง อาการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัดอยู่นานหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ เมื่อไวรัสลุกลามเข้าในหูและเส้นประสาทการได้ยิน จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรงนานหลายวันจนถึงสัปดาห์ แต่ไม่ส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ป่วยยังคงได้ยินเป็นปกติ
       4.กระดูกกะโหลกแตกหัก (temporal bone fracture)
       5.เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (vertebra-basilar insufficiency)
จะเห็นได้ว่า อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมีสาเหตุที่ซับซ้อน การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญ การรักษาในระยะแรกจะได้ผลดีกว่าในระยะหลัง ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการและเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทั้งการตรวจหู ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ตรวจดูการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของการทำงานในหูชั้นในอาจได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น
        -ตรวจการได้ยิน (audiogram)
        -ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (videoelectronystagmography: VNG)
        -ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography: ECOG)
        -ตรวจการทรงตัว (posturography)
        -ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (evoke response audiometry) เป็นต้น
         สำหรับการรักษา แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
        อย่างไรก็ดี การดูแลตนเองและพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็ยังคงมีความสำคัญต่อการรักษาและการป้องกันการเกิดโรค ในผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนควรปฏิบัติตัว ดังนี้
       -หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็ว ๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มเงยคอหรือหันอย่างเต็มที่
       -ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่/ดื่มกาแฟ
       -หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
       -ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะยังมีอาการ การปีนป่ายที่สูง


 ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/