ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกายเปรียบเหมือนแม่บ้านใหญ่ ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้เป็นปกติในหลายๆ ด้าน ช่วยขจัดสารพิษ ของเสียออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรค ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ออกจากเลือด ตับยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดีซึ่งทำหน้าที่ในการดูดซึมไขมัน วิตามินชนิดละลายในไขมัน ย่อยอาหาร
ตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะที่มีการเสื่อมของเซลล์ตับอย่างเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยมีการสร้างผังผืด และเกิดปมกระจายอยู่ทั่วไป ผิวของตับจะขรุขระ โครงสร้างและหน้าที่ปกติเสียไป โครงสร้างของกลีบตับและทางไหลเวียนของเลือดค่อยๆ เปลี่ยนไป ตับจึงเปลี่ยนรูปร่าง แข็งขึ้นและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด พบบ่อยโดยเฉพาะในเพศชายมากกว่าหญิง อายุมากกว่า 50 ปี พบในผู้ที่ชอบดื่มสุรา และอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย
สาเหตุของโรคตับแข็ง
* การดื่มสุราปริมาณมากเป็นเวลานาน
* ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ไวรัสตับอักเสบบี และซี
* ภาวะไขมันพอกตับ
* ภาวะดีซ่านเรื้อรัง จากท่อน้ำดีอุดตัน เนื่องจากนิ่วอุดตันท่อน้ำดี หรือเนื้องอกอุดตัน หรือเบียดท่อน้ำดี
* ความผิดปกติของระบบการหมุนเวียน ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบหดรั้งเรื้อรัง จะทำให้ตับขาดออกซิเจนเนื่องจากมีเลือดคั่งที่ตับเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ตับตายและกลายเป็นพังผืด เรียกว่าโรคตับแข็งแบบเลือดคั่ง หรือโรคตับแข็งจากหัวใจ (Cardiac Cirrhosis )
* การสัมผัสกับสารพิษเป็นเวลานาน การใช้ยาบางประเภทเป็นเวลานานสามารถทำให้ตับอักเสบจากสารพิษ หรือตับอักเสบจากยาซึ่งกระตุ้นให้เกิดโรคตับแข็งได้
* โรคกรรมพันธุ์บางชนิด
* ไม่ทราบสาเหตุ
ลักษณะอาการของโรคตับแข็ง
ผู้ป่วยตับแข็งระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อตับแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดอาการ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมาด้วยอาการแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง เช่น บวม ตาเหลือง ตัวเหลือง ขาบวม
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจหาภาวะตับแข็งในผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การตรวจวินิจฉัยภาวะตับแข็งประกอบไปด้วยการตรวจเลือด การตรวจทางรังสีวิทยาดูลักษณะของตับ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง MRI โรคตับแข็งไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้โดยการป้องกันไม่ให้ตับแข็งมากขึ้น โดยดูแลที่สาเหตุ งดดื่มสุรา กรณีที่มีสาเหตุจากสุรา ในรายที่เป็นไวรัสตับอักเสบ บีและซี ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เพื่อลดอาการขาบวม ท้องบวม การผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นการวิธีที่ดีที่สุด แต่มีข้อจำกัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงและตับที่มีผู้บริจาคมีจำนวนน้อยและต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท
https://www.phyathai.com/th/article/cirrhosis-ptp