โรคไหลตาย หรือชื่อในภาษาอังกฤษ คือ Sudden Unexplained Nocturnal Death syndrome (SUNDS) เป็นลักษณะอาการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ มักจะเกิดกับชายหนุ่มในช่วงอายุ 20-50 ปี ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่พอนอนหลับไปแล้วตอนเช้าจะพบว่าเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือโครงสร้างของหัวใจมีลักษณะที่ผิดปกติ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงมักเกิดในภาคอีสาน
4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการไหลตาย
1.ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
2.จากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนจนเกิดการสะสม และเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
3.ภาวะขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนมากกว่าปกติ เมื่อหลับแล้วมักเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิต
4.เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อย่าง กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของยีนที่สร้างโปรตีนควบคุมการไหลเข้า-ออกของโซเดียมในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ กับอีกภาวะหนึ่ง คือความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ (Long QT Syndrome)
อาการแสดงที่บ่งชี้ถึงโรคไหลตาย
โรคไหลตาย แม้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบ่งชี้บางอย่างที่เหมือนเป็นการเตือนล่วงหน้า ดังนั้นหากสังเกตพบอาการผิดปกติ อย่างเช่น หมดสติขณะตื่นอยู่ เป็นลม หรือนอนอยู่แล้วหมดสติไป รวมถึงอาการเกร็งตามแขนและขา เวลาหายใจมีเสียงดังหรือเสียงเฮือกเกิดขึ้น มีอาการกระตุก ลมชัก อาการปัสสาวะและอุจจาระราด ใบหน้าและบริเวณริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นอาการบ่งชี้ของการมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะไหลตายได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคไหลตาย
1.ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยมีอาการไหลตาย หรือเคยมีอาการที่แสดงถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
2.ผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะมาตั้งแต่เกิด
3.ผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ชนิดบรูกาดา
แนวทางการปฐมพยาบาลผู้เกิดภาวะไหลตาย
นำผู้ป่วยนอนราบลงกับพื้น พร้อมประเมินผู้ป่วย หากไม่หายใจหรือไม่มีชีพจร ให้ทำ CPR ด้วยการกดบริเวณหน้าอกให้ยุบลงประมาณ 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุดๆ โดยใช้ความถี่ 100 ครั้งต่อนาที และต้องทำไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือผู้ป่วยรู้สึกตัว หัวใจกลับมาเต้น
โรคไหลตาย คือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิตโดยไม่พบอาการผิดปกติทางสุขภาพมาก่อน ดังนั้นหากพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเคยมีผู้เป็นโรคไหลตาย หรือมีอาการสงสัยบางประการ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากรพ.พญาไท