โรคฮันนีมูน ... มักเกิดกับผู้หญิงเพิ่งแต่งงาน

โรคฮันนีมูน (Honeymoon Disease) คือ โรคทางนรีเวชที่มักจะเกิดกับผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงาน หรือมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งกิจกรรมทางเพศบ่อยๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีอาการที่คล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะบริเวณช่องคลอด ท่อปัสสาวะมีการอักเสบ โดยโรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่ ถ้ารักษายังไม่หายขาด และหากติดเชื้อแบคทีเรียที่กระเพาะปัสสาวะจนอักเสบขึ้น จะเรียกว่า ฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis)


โรคฮันนีมูนเกิดจากอะไร
โครงสร้างของอวัยวะเพศหญิงจะสัมพันธ์กับทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งทวารหนัก ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กันมาก และเมื่อมีกิจกรรมทางเพศโดยการสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด ทำให้เชื้อโรคเคลื่อนเข้าสู่ภายใน จนเกิดการติดเชื้อขึ้น ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ไม่ใช่สาเหตุของโรคเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่
* การดื่มน้ำน้อยเกินไป
* พฤติกรรมชอบกลั้นปัสสาวะ
* ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ
* ผู้ที่มีประวัติการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือฉายแสงบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้งกระเพาะปัสสาวะ


อาการของโรคฮันนีมูน
* แสบขัดขณะปัสสาวะ
* แสบตรงปลายท่อปัสสาวะ
* ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
* ปัสสาวะไม่สุด และเข้าห้องน้ำวันละหลายครั้ง
* ปวดท้องน้อย


การวินิจฉัยโรคฮันนีมูน
ขั้นแรกแพทย์จะสอบถามประวัติ อาการของโรค และการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากนั้นจะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ได้แก่


การตรวจเพาะเชื้อปัสสาวะ
* เพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย และเพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือไม่

การรักษาโรคฮันนีมูน
* งดการทำกิจกรรมทางเพศทุกรูปแบบ
* ดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อขับเชื้อโรค
* หากปฏิบัติตามในข้างต้น อาการจะบรรเทาลง และหายขาดภายใน 5-7 วัน
* แต่ถ้ามีอาการรุนแรง และความผิดปกติอื่นๆ หรือตรวจพบการติดเชื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ


ภาวะแทรกซ้อนของโรคฮันนีมูน
ผู้ป่วยโรคฮันนีมูนที่ทำการรักษาไม่หายขาด และยังคงทำกิจกรรมทางเพศอย่างผิดหลักสุขอนามัย มีความเสี่ยงที่อวัยวะส่วนบนในระบบทางเดินปัสสาวะจะติดเชื้อโรค และเกิดการอักเสบ เช่น ไต กรวยไต ต่อมหมวกไต และท่อไต ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือการติดเชื้อในกระแสโลหิต จนถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ในที่สุด และก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในไต เป็นต้น


การป้องกันโรคฮันนีมูน
* ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
* ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกสุขอนามัย
* หลีกเลี่ยงพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะ
* ทำกิจกรรมทางเพศอย่างเหมาะสม ไม่หมกมุ่นจนเกินไป
* หลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทันที
* หากมีอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง


ความต้องการทางเพศเป็นสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้แก่มนุษย์ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยาที่ได้ทำการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับทางด้านสังคมว่าคนทั้งสองสามารถร่วมกิจกรรมทางเพศกันได้ แต่โลกใบนี้มีสองด้านเสมอ อะไรที่มากเกินไปมันก็จะเกิดโทษ ดังนั้นการแสดงความรักต่อกัน อาจไม่ใช่แค่เรื่องของเซ็กส์ แต่การโอบกอด คำพูดด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน และการเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพคนรัก จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ พร้อมทั้งความอบอุ่นของสถาบันครอบครัวดียิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก  โรงพยาบาลเพชรเวช

https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Honeymoon-Disease-Cystitis-like-Symptoms