โรคท้องเสีย โนโรไวรัส

นอกจากเรื่องโควิดที่ทำให้ทุกคนหวาดกลัว และระแวงว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ ในตอนนี้มีข่าวเพิ่มเติมมาอีก 1 โรค ที่ทำให้พวกเราต้องมากังวลอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือโรคท้องเสียโนโรไวรัส
          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ประชาชนควรเฝ้าระวัง “โรคท้องเสีย โนโรไวรัส” ที่กำลังระบาดอย่างมากในภาคตะวันออกในตอนนี้ ควรสังเกตและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้เป็นวงกว้าง หรือคนรอบข้างได้
          โรคท้องเสีย หรือเรียกกันว่า โรคโนโรไวรัส มีชื่อเดิมว่า นอร์วอล์ค เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี  การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น จาน ชาม ช้อน ไวรัสตัวนี้จะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวสั้นประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง และในการแพร่กระจายเชื้อ ไวรัสนี้พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

อาการที่พบบ่อยหากได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ได้แก่
          - ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
          - ปวดท้อง
          - คลื่นไส้
          - อาเจียน
          - ปวดศีรษะ
          - มีไข้ บางรายอาจจะมีไข้อยู่ 1 ถึง 3 วัน
          - ปวดเมื่อยตามร่างกาย
          - อ่อนเพลีย

การติดต่อของโรคเชื้อโนโรไวรัส
          - รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผัก ผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น
          - เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปาก

การรักษา
          เมื่อร่างกายติดเชื้อโนโรไวรัสจะมีอาการอาเจียน ไข้ไม่สูงมาก ปวดท้อง ท้องเสีย แต่สามารถหายได้เอง แนะนำให้ผู้ปกครอง หรือครู อาจารย์รีบพาเด็ก ๆ มาพบแพทย์ เนื่องจากบางรายมีอาการขาดน้ำต้องให้น้ำเกลือ หรือนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการอย่างน้อย 2 – 3 วัน
          นอกจากการรักษาจากทางแพทย์แล้ว เราควรที่จะเรียนรู้ถึงวิธีป้องกัน ดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาด เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่
          - ก่อนรับประทานหรือหยิบจับอาหารและหลังเข้าห้องน้ำต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
          - การล้างมือให้สะอาดต้องล้างด้วยน้ำสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่านไม่ต่ำกว่า 15 วินาที
          - ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด สดใหม่
          - เลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น
          - ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงควรดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่กำลังเจริญเติบโต เพราะจะมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ
          ดังนั้น ควรดูแลและใส่ใจเป็นอย่างมากในเรื่องของการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ที่สำคัญล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโนโรไวรัส หากใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรื่องของความสะอาดทั้งงานบ้านและงานครัว คุณจะสามารถป้องกันตัวเองและคนสำคัญของคุณได้เช่นกัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา  : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
                               :  ข่าวสร้างสุข  สสส.