สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยว่า โรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) เป็นโรคที่มักมีอาการกำเริบในช่วงฤดูหนาว ประชาชนควรทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการผิวแห้งเกล็ดปลาควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคหนังเกล็ดปลา (Ichthyosis) โดยพบได้ประมาณ 1% ของประชากรทั่วไป ซึ่งอาการของโรคมักจะไม่ปรากฏเมื่อตอนแรกเกิด แต่จะเริ่มแสดงอาการในช่วง 1 เดือนแรก สาเหตุของโรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) เกิดจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ให้ความชุ่มชื้นชื่อว่า Filaggrin อาการผิวแห้งเกล็ดปลามักมีอาการกำเริบในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศที่แห้งและเย็น และอาการจะดีขึ้นในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝนที่มีสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองได้ดีต่อการใช้สารให้ความชุ่มชื้น
นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคผิวแห้งเกล็ดปลา(Ichthyosis vulgaris) ควรตรวจร่างกายหาอาการแสดงอื่นๆ ของโรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) และโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Eczema) เนื่องจากอาจเป็นอาการแสดงหนึ่งในโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โดยอาการที่พบ ได้แก่ 1.มีเกล็ดสีเทาอ่อนครอบคลุมบริเวณขาและลำตัว เกล็ดมีขนาดเล็กและมักเว้นบริเวณขาหนีบและข้อพับ 2.มีรอยย่นบนฝ่ามือที่มากกว่าปกติ โดยลักษณะนี้ไม่ได้รับอิทธิพลจากฤดูกาลหรือความชื้น 3.ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการเหงื่อออกน้อยและไม่สามารถขับเหงื่อได้ดี 4.อาการอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคขนคุด, โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
นายแพทย์ชวลิต ทรัพย์ศรีสัญจัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติม วิธีการป้องกันและการรักษา มีดังนี้ 1.ควรใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น 2.หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือร้อน 3.หากผู้ป่วยโรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) มีโรคร่วม เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ควรรักษาด้วยยาทาสเตียรอยด์ ดังนั้นเมื่อพบภาวะโรคผิวแห้งเกล็ดปลา (Ichthyosis vulgaris) ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและให้แนวทาง การรักษาที่ถูกต้อง
6 ธันวาคม 2567