รู้จัก “ไขสันหลังอักเสบ” มัจจุราชร้ายพรากชีวิต

อาการปวดหลังหรือรู้สึกชาที่ปลายนิ้ว อาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยในตอนแรก แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคไขสันหลังอักเสบ” ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ส่งผลต่อการทำงานของไขสันหลัง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจลุกลามจนรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตหรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้


นายแพทย์กิติเดช บุญชัย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของไขสันหลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองและร่างกาย การอักเสบนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการชาและอ่อนแรงที่ปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะค่อยๆ ลุกลามไปที่ขาทั้ง 2 ข้าง ในบางรายอาจมีอาการปวดหลังแบบฉับพลันนำมาก่อน หลังจากนั้นขาจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ขับถ่ายไม่ได้ โดยอาการเหล่านี้มักจะเป็นรุนแรงมากขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดคอ ร่วมด้วย


สาเหตุของการเกิดโรคไขสันหลังอักเสบ สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่ค่อยสัมพันธ์กับทางพันธุกรรมหรือครอบครัว โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ


ภาวะโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือ โรคเอสแอลอี (SLE) หรือในคนไข้ที่มีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน
การติดเชื้อไวรัส เช่น HIV, herpes vitus, herpes simple, EBV หรือ poliovirus เป็นต้น
การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซิฟิลิส (Syphilis)
ติดเชื้อพวกปรสิต หรือ เชื้อรา
การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบแพทย์มักเริ่มด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพร่วมกับประเมินการทำงานของระบบประสาทจากวิธีการตรวจต่างๆ เช่น การทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นการอักเสบบริเวณไขสันหลัง ปลอกหุ้มใยประสาทที่เสียหาย และความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อไขสันหลังหรือหลอดเลือด, การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ หรือช่วยประเมิน โปรตีนและเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อาจจะพบได้มากกว่าคนปกติและการตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาเชื้อโรคต้นเหตุของไขสันหลังอักเสบ


การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ เช่น เกิดจากการติดเชื้อต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติในระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา สำหรับการรักษาในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการกำเริบของโรคจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี


อย่างไรก็ตาม โรคไขสันหลังอักเสบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเวชธานี 


https://www.vejthani.com/th/2024/12/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A/