กรมวิทย์แนะเจลล้างมือมีคุณภาพช่วยป้องกันโรค

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีคุณภาพและการใช้ที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันโรค
    นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเป็นประจำทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านและเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันหรือสถานที่แออัด ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร รวมถึงหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือหากไม่สะดวกให้ใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและการใช้ที่ถูกต้องจะทำให้ปลอดภัยและปลอดโรค  ทั้งนี้ เจลแอลกอฮอล์ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันการระเหยและการเปิดภาชนะบ่อย ๆ ทำให้ปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ลดลง จนอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง สำหรับวิธีการใช้เจลแอลกอฮอล์  ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย เมื่อหยดลงบนฝ่ามือแล้วไม่ควรมาสัมผัสใบหน้า จมูกและตา ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้วและเล็บ แล้วปล่อยให้ระเหยหมดก่อนที่จะไปสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ ควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การอยู่นอกสถานที่ ซึ่งไม่มีน้ำและสบู่ ใช้แล้วปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน
    จากข้อมูลของสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563  ถึง 28 ธันวาคม 2563 มีหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ทั้งชนิดเจลและของเหลวมาตรวจวิเคราะห์ที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย เพื่อทดสอบแอลกอฮอล์ชนิดที่อนุญาตและเมทิลแอลกอฮอล์ และทดสอบประสิทธิภาพการลดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง พบว่า 12 ตัวอย่าง มีชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่กำหนด และมีประสิทธิภาพการลดเชื้อ ส่วนอีก 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.5)  มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย นอกจากนี้ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้พัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ โดยมีความพร้อมของเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ได้รับจากโครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งสามารถรองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 20 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ จากเดิมได้เพียง 10 ตัวอย่างต่อสัปดาห์
    “แอลกอฮอล์อาจทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีการแพ้ได้ง่ายหรือเด็กเล็ก ซึ่งมีผิวหนังบอบบาง และหากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ จะทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้ และเนื่องจากลักษณะภายนอก ของเมทิลแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถตรวจสอบได้จากลักษณะสี หรือกลิ่น ซึ่งอาจจะต้องทำการทดสอบเบื้องต้นด้วยชุดทดสอบเมทานอลในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ หากพบว่าผลิตภัณฑ์ใดที่ตรวจด้วยชุดทดสอบแล้วให้ผลบวก (พบเมทานอล) จะต้องส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ผู้บริโภคต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีเลขทะเบียนใบจดแจ้ง อย. หากไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผลิตภัณฑ์บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิท ระบุวัน เดือน ปีหมดอายุ และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ วิธีการใช้ที่ถูกต้องครบถ้วน” นพ.ศุภกิจ กล่าว