'ฟ้าทะลายโจร' ใช้อย่างไร ? ให้ปลอดภัยต่อตับ

กรมการแพทย์แผนไทย

จากความสับสนของสังคมในปัจจุบันที่ว่า ตกลงแล้ว “ฟ้าทะลายโจร” ป้องกันโควิด ได้หรือไม่ แล้วต้องทานปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร จึงจะช่วยบรรเทาอาการป่วย หรือ ยับยั้งไวรัส ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาการไม่หนัก ให้ได้ผล และไม่เป็นอันตรายต่อตับ
          กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัด "ฟ้าทะลายโจร" ขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ โดยมีการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “ในหลอดทดลอง” ผลที่ออกมา คือ ตัวยาสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ แต่ไม่สามารถป้องกันการเข้าเซลล์ของไวรัสได้ ดังนั้น สามารถใช้ในการรักษา แต่ไม่สามารถป้องกันได้ ขณะที่ “ทดสอบในมนุษย์” พบว่า การเข้าไปอยู่ในร่างกาย แนวโน้มเห็นผลว่าตัวฟ้าทลายโจร สามารถลดอาการอักเสบ นำมาสู่ “การทดลองในผู้ป่วยโควิด” ซึ่งจะมีทั้งคนที่ได้รับยาหลอก และ ยาจริง
          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวในการเสวนา หมอแผนปัจจุบัน หมอแผนไทย หมอแผนจีน ตอบทุกข้อสงสัย ไขทุกข้อข้องใจ “ฟ้าทะลายโจร ป้องกัน รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ?” ผ่านคลับเฮ้าส์ ว่า ความก้าวหน้างานวิจัยฟ้าทลายโจร พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อย ปานปลาง 304 ราย ทุกรายอาการดีขึ้น จนหายเป็นปกติ มีส่วนน้อย 5-6 ราย ที่มีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ ประเด็นสำคัญ คือ 304 ราย ไม่มีรายใดเกิดอาการลุกลามเพิ่มเติม จนใส่ท่อช่วยหายใจ หรือไวรัสลงปอด เข้าไอซียู ทุกคนดีขึ้นค่อนข้างเร็ว กว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา
          “มีเพียง 1 ราย เท่านั้น ที่เชื้อไปปอด ทั้งๆ ที่ใช้ฟ้า "ทะลายโจร" แต่เป็นรายที่ได้รับยาไม่ตามโดสที่แนะนำ ดังนั้น จะเห็นว่าการใช้ฟ้าทลายโจร มีผลทำให้กลุ่มอาการน้อย อาการไม่รุนแรงขึ้น และต่อจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลให้ลึกขึ้นต่อไป”
          ทิศทางการเดินหน้าของงานวิจัย จากการระบาดครั้งใหม่ น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ใช้วิกฤติให้เกิดการเรียนรู้ โดยที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณ สนับสนุนจาก สธ. ในการจัดหาฟ้าทะลายโจร เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มอาการเล็กน้อย และติดตามไปด้วย ในช่วงที่ผู้ป่วยจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่พบว่า 304 ราย อาการไม่แย่ลง แทนการใช้ฟาวิพิราเวียร์ที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ แต่เปลี่ยนมาใช้ฟ้าทะลายโจร ขณะนี้ มีการเตรียมพร้อมยาเพียงพอ 77 จังหวัดทั่วไทย
          “ด้วยความมุ่งหวังให้ฟ้าทะลายโจร ตอบโจทย์ คนไทยและส่งเสริมเกษตรกร บนพื้นฐานหลักการที่ถูกต้อง การทำงานครั้งนี้จะอยู่ที่ความยินยอมของผู้ป่วยและดุลพินิจแพทย์เจ้าของไข้ เดินหน้าไปตามความยินยอมของทุกฝ่าย และมีการติดตามศึกษา นำข้อมูลมาขยายประโยชน์มากขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว
          สำหรับปริมาณการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” กรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ข้อแนะนำ ดังนี้
          - ใช้ในเชิงส่งเสริมสุขภาพ : ปริมาณ 20 มก.ต่อวัน (ไม่เกิน 5 วัน)
          - ใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัด : ปริมาณ 60 มก.ต่อวัน (ครั้งละ 20 มก. 3 ครั้ง)
          - การศึกษารักษากลุ่ม โควิด 19 : ปริมาณ 180 มก. ต่อวัน (ครั้งละ 60 มก. 3 ครั้ง)
          “แต่แนะนำว่าควรใช้ไม่เกิน 5 วัน เพราะการใช้นานกว่านั้น ยิ่ง 180 มก. จะส่งผลต่อตับ และอยู่ในการแนะนำของแพทย์ ขณะที่ ในเชิงแพทย์แผนไทยเป็น ฟ้าทลายโจร เป็นยาเย็น หากกินนาน ส่งผลให้ตับไม่ดี มือเท้าเย็น ใจสั่น อ่อนเพลีย”
          “ยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ยาหลัก และไม่ได้ใช้ในผู้ป่วยอาการรุนแรง แต่ลดความขาดแคลนยาแพง โดยใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย และสกัดอาการให้หายเร็วขึ้น” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว
          ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า สรุปแล้วประเด็นหลักที่ต้องสื่อ คือ หนึ่ง จากข้อมูลที่ศึกษาติดตามคนไข้ที่ได้รับยา "ฟ้าทะลายโจร" ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 304 ราย ข้อแนะนำ คือ ขอให้ใช้ฟ้าทะลายโจร ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการไม่รุนแรง ภายใต้การดูแลของแพทย์
          “เพราะฉะนั้น ไม่แนะนำให้ผู้ป่วย ไปซื้อ "ฟ้าทะลายโจร" ตามร้านขายยามาใช้เอง เพราะไม่แน่ใจในเรื่องของปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยความที่ฟ้าทะลายโจร พัฒนาจากสมุนไพร สามารถใช้ทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน และต้องใช้ไม่เกิน 5 วัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ” รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว