วิธีการดูแลผู้สูงอายุเมื่อเกิดอาการสำลัก

กรมการแพทย์

กรมการแพทย์แนะวิธีการดูแลผู้สูงอายุเมื่ออาการสำลัก หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เพื่อประคับประคองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น ส่งผลให้ทำการรักษายาก ใช้เวลานานในการฟื้นตัว และอาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
          นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของระบบการกลืนอาหาร การทำงานของช่องปาก กลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนลดลง ระบบอวัยวะต่างๆจะเสื่อมลง อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น สำลัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ รวมถึงการมีเสมหะ เศษอาหาร หรือฟันปลอมที่ชำรุดไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินในผู้สูงอายุ อาจทำได้ยาก เพราะอาการที่เกิดขึ้นสังเกตได้ยากและไม่ชัดเจน
          นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุที่เกิดอาการสำลัก หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น จะมีอาการหายใจ ติดขัด มีเสียงคล้ายนกหวีดขณะหายใจ พยายามพูดแต่ไม่มีเสียง อาจหมดสติภายใน 4-5 นาที และอาจจะเสียชีวิตได้ สำหรับการดูแลเบื้องต้นผู้สูงอายุอาจไม่มีแรงในการไอเพื่อขับสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจให้ออกมา ผู้ดูแลต้องช่วยโดยการยืนด้านหลังผู้สูงอายุ ใช้มืออ้อมจากด้านหลังมากำมือประสานไว้ที่หน้าท้องผู้สูงอายุ เหนือสะดือเล็กน้อย กระแทกมือขึ้นด้านบนบริเวณกะบังลมอย่างรวดเร็ว โดยใช้แรงพอสมควร ตามจังหวะที่ผู้สูงอายุพยายามหายใจเอาสิ่งที่อุดกั้นออก และผู้ดูแลสามารถบอกได้ว่าสิ่งใดที่อุดกั้นทางเดินหายใจจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้การป้องกันอาการสำลัก หรือภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น สามารถทำได้โดยดูแลสุขภาพเหงือกและฟันผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้สำลักง่าย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืนควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝึกการกลืน และรีบรักษาเมื่อมีปัญหาเรื่องไอหรือเสมหะ