SLEEP TEST จับผิดการนอน ก่อนหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า หรือนอนมากจนเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้ายก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ซึ่งปกติแล้วการนอนที่ถูกต้องตามหลักสากล คือ การนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการนอนจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวนแล้ว อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพตามมาได้ อาทิ  โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ความดันในปอดสูง โรคหลอดเลือดสมอง
          นอกจากนี้ ภาวะคุณภาพการนอนที่ไม่ปกติ ยังอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ ที่เมื่อนอนหลับแล้วร่างกายจะเกิดความผิดปกติทางการหายใจ อย่างเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายขาดออกซิเจน จนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและอื่น ๆ อีกหลายโรค  ปัจจุบันทางการแพทย์จึงมีการเลือกใช้วิธี “ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test” ซึ่งเป็นการตรวจที่จะบอกถึงการทำงานของร่างกายระหว่างนอน โดยสามารถบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับเพื่อนำไปสู่การดูแลและรักษาได้อย่างถูกต้อง

          พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการ ด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายให้เราฟังว่า “Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย และหาสาเหตุของความผิดปกติต่า งๆ ในระหว่างการนอนหลับ ด้วยการใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับร่วมกับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน โดยในขั้นตอนจะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ได้แก่ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของกล้ามเนื้อตา แขน ขาและกราม รวมทั้งบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่าง ๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที
          เมื่อตรวจ Sleep test เสร็จแล้วแพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ  การตรวจนี้สามารถทราบถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในระหว่างการนอนอื่น ๆ ได้ อาทิ นอนกัดฟัน ตลอดจนภาวะชักขณะหลับ ซึ่งผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจ Sleep test คือ กลุ่มผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA), ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน, ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับ หรือเป็นโรคลมหลับ (narcolepsy), ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

          ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ Sleep test สามารถพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ โดยสังเกตอาการผิดปกติดัง ต่อไปนี้
          - นอนกรน
          - มีเสียงกรนหยุดเป็นพัก ๆ พลิกตัวบ่อย ๆ
          - หายใจลำบากและสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
          - ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
          - ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อย ๆ
          - มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ  นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ
          - นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์”

          ทั้งนี้ คุณหมอเพชรรัตน์ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า “จากอาการข้างต้น มีแบบทดสอบที่ได้รับการยอมรับในการประเมินความง่วงที่ผิดปกติ ชื่อว่า  Epworth sleepiness scale เพื่อประเมินความง่วงที่อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งประกอบด้วยชุดคำถามที่จะช่วยให้สามารถประเมินตัวเองและคนรอบข้างเบื้องต้นได้”  
          “การเตรียมตัวก่อนตรวจ Sleep test มีข้อปฏิบัติโดยทั่วไป ดังนี้ อาบน้ำชำระล้างร่างกายและสระผมให้สะอาดก่อนเข้าตรวจ โดยห้ามใส่น้ำมันหรือทาครีมใด ๆ เพราะอาจรบกวนการติดอุปกรณ์การตรวจ, งดชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ , จดชื่อและขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่มาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ)
          ปัจจุบันถือว่าการตรวจ Sleep test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล (gold standard) ในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA), การกระตุกของกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปวางแผน หรือติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง
           นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลการตั้งค่าความดันลมในผู้ที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อช่วยเปิดช่องทางเดินหายใจขณะนอนหลับ หรือการปรับระดับของเครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) ในผู้ที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น รวมทั้งยังใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการนอน และตรวจคุณภาพการนอนได้อีกด้วย” พญ.เพชรรัตน์กล่าวปิดท้าย


ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ร.พ.พระรามเก้า