จิตแพทย์เปิดเหตุผลคนไทยมีลูกช้า เสี่ยงภาวะมีบุตรยาก คนรุ่นใหม่อยากเป็นโสด พบอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น เห็นคุณค่าครอบครัวลดลง พร้อมรุกงานสุขภาพจิตปรับความคิดจูงใจคนอยากมีลูก
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กไทยเกิดน้อย เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งอยากเป็นโสด ไม่อยากมีลูก หรือพร้อมมีลูกเมื่ออายุมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ต้องยอมรับว่า 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ทำให้ชะลอการมีครอบครัว และชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไป
2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่ และความคาดหวังต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะหลัง หลายคนตั้งความคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คน ต้องมีความพร้อม ซึ่งกว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดต่อเรื่องนี้ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย
"ส่วนหนึ่งคาดหวังคุณภาพของเด็ก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ คือ กว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ทำให้โอกาสของการคลอดก็ลดลง แต่เราต้องแก้ไข คือ ควรดูแลให้มีการควบคุมวางแผนครอบครัวเป็นไปอย่างดี มิเช่นนั้น บรรดาทารกที่เกิดบนความไม่พร้อม แม้มีปริมาณมาก อาจด้อยคุณภาพ กลุ่มที่ลังเลใจจากความคาดหวังต่อมาตรฐานสูงในการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูเด็ก ต้องมีกลไกไม่ให้อยู่ในมาตรฐานที่สูงเกินไป มีความคาดหวังที่มากเกินไป มีความผ่อนคลายและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตครอบครัว ที่จะมีคุณค่าในการเติมเต็มความสุขที่แท้จริง มีโครงสร้างเชิงสังคมที่จูงใจพ่อแม่มีความพร้อม มีความสุขที่จะมีลูก" พญ.อัมพร กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า มีการวิเคราะห์โจทย์ความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีคุณภาพ มีทั้งการเลี้ยงดู การเป็นภาระ ดังนั้น ถ้ามีกลไกทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีให้พ่อแม่ได้ เช่น คนห่วงกังวลเรื่องการทำงาน ก็มีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ต้องแย่งกันเข้าหรือใช้เงินมาก ทุ่มเทเพื่อซื้อพื้นที่ดี ๆ ให้กับลูก หรือเข้าโรงเรียนใช้เงินมาก การแข่งขันสูง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ พ่อแม่ทุกคนมั่นใจว่ามีลูกจะมีโรงเรียนดี ๆ โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมาย ก็จะเบาใจมากขึ้น ยังมีโครงสร้างทางสังคมหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้พ่อแม่มีความพร้อมและมีความสุขที่จะมีลูก
ส่วนกระแสความคิดคนอยากเป็นโสดมากขึ้น จนทำให้แต่งงานช้า หรือมีลูกช้า พญ.อัมพร กล่าวว่า กระแสสังคมทั่วโลกมีแนวโน้มของการติดอยู่ในความเป็นวัตถุนิยม คำนึงถึงความสุขทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจ และจับต้องง่ายกว่าความสุขทางใจ ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะมากกว่า ก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนการมีโอกาสสร้างครอบครัว
"กระแสสังคมทั่วโลกค่อนข้างเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จากสมัยโบราณที่ต้องพึ่งพิงกันและกัน แต่ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยเงิน ถ้าเราสามารถสร้างรายได้เป็นเงิน จึงมีโอกาสตอบโจทย์ความจำเป็นอื่น ๆ ทางกายภาพของชีวิตได้ง่าย เช่น ใช้เงินซื้อข้าว ซื้อเสื้อผ้า ทำทุกสิ่งทุกอย่าง จะพาลทำให้เข้าใจผิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ และความเข้าใจผิดนี้ทำให้คนเรามีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ในสัมพันธภาพใด ๆ จึงหายไปเรื่อย ๆ ทำให้คนเห็นคุณค่าของครอบครัวน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วย กลายเป็นอยู่คนเดียวมีความสุขเบ็ดเสร็จในตัว จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกิดครอบครัวและการมีเด็กรุ่นใหม่" พญ.อัมพร กล่าว
เมื่อถามว่า ต้องมีระบบให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนให้คนหันกลับมามีลูกหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ในแง่มุมสุขภาพจิตมีบทบาทในหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าของครอบครัวที่สมบูรณ์ คือ การมีลูกปริมาณที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดี ถ้างานสุขภาพจิตสามารถให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำที่ดีตรงนี้ได้ก็จะช่วยในระดับบุคคลได้ แต่ระดับมหภาคต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งว่า การคลายความเครียดของสังคม การช่วยให้ประชาชนอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจนไม่เลยเถิดกลายเป็นความเครียดต่อการมีชีวิตครอบครัว หรือมีความเครียดต่อการเลี้ยงดูเด็ก ก็จะเป็นอีกส่วนที่กรมสุขภาพจิตจะทำหน้าที่ ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยและสังคมโลกอาจคุ้นชินเรื่องการวางแผนครอบครัว และคาดหวังในคุณภาพ
"เราอยากให้พ่อแม่ทุกคนมีลูกที่มีคุณภาพ แต่พอรณรงค์การเพิ่มคุณภาพลูกเยอะ ๆ กระแสตรงนี้กลายเป็นความกดดันได้ อาจต้องมองย้อนกลับในอีกทิศทางให้เกิดสมดุลว่า ความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรบนความรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขนั้นต้องเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันทำ" พญ.อัมพร กล่าว
ต่อข้อถามถึงเกณฑ์รูปธรรมของความพร้อมที่จะมีลูก พญ.อัมพรกล่าวว่า มีการพูดถึงเรื่องนี้ และมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ โดยพ่อแม่ที่เหมาะสมในเชิงอายุ คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เชิงการศึกษา ก็ควรจะเป็นจบการศึกษาปริญญาตรี หรืออย่างน้อย ม.6 เป็นช่วงอายุและการศึกษาที่มีคุณภาพต่อการเป็นพ่อแม่ ทารกที่เกิดจะมีคุณภาพ ส่วนสถานะครอบครัวอยากให้ปูพื้นฐานว่า พ่อแม่มีความรักใคร่ อยู่ด้วยกันให้ช่วยเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น เด็กที่มาจากความรัก ความพร้อม พ่อแม่อยู่กันครบถ้วนจะมีคุณภาพสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือมีการแยกทางกัน โดยเฉพาะแยกทางตั้งแต่อายุน้อย เด็กจะยิ่งเจอปัญหาในเชิงคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเชิงของเศรษฐกิจ พ่อแม่ไม่มีหนี้สินเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่า
"ถ้าถามถึงเกณฑ์ที่เหมาะสมในการมีครอบครัวและมีลูกก็มีเชิงรูปธรรม แต่สังคมไทยยังไม่ตกผลึกออกมาเป็นแบบบัญญัติชัด ๆ อาจจะต้องมีแนวทางคร่าว ๆ ให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งประเมินตนเองได้ มิเช่นนั้นจะเอาชีวิตไปผูกกับความหวังที่สูง มาตรฐานที่สูงจนกลายเป็นความกดดัน" พญ.อัมพร กล่าว
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
: สสส. ,ข่าวสร้างสุข