กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำวิธีการักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม พร้อมอธิบายลักษณะของโรค โรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสม
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) เป็นโรคผมร่วงที่พบบ่อย โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ มักมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ บริเวณผมที่ร่วงมีลักษณะกลม หรือรี อาจมีอาการขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วยเช่น เครา หนวด ขนคิ้ว และขนตามร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการมากคือ ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ (alopecia totalis) มีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย (alopecia universalis) ในผู้ป่วยบางรายที่มีผมร่วงไม่มาก อาการจะหายได้เองแต่มักจะใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งต่างจากในผู้ป่วยที่ผมร่วงมากที่มักจะไม่หายเอง โรคนี้อาจมีอาการเป็นๆหายๆได้ ซึ่งการเป็นซ้ำอาจเกิดขึ้นเองหรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆหรือภาวะเครียดจากร่างกายและจิตใจ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผมร่วงเป็นหย่อมนี้เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อรากผมตนเอง (autoimmunity) ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นได้ ที่พบบ่อยได้แก่โรคภูมิแพ้ เช่นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคไทรอยด์ และโรคด่างขาว โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอื่นนอกเหนือจากมีผมร่วง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บ หรือรู้สึกผิดปกติที่บริเวณหย่อมผมร่วงได้ ผมอาจมีสีขาวได้ เนื่องจากโรคนี้อาจมีผลต่อเซลล์ที่สร้างสีของผม เล็บอาจมีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆ ตื้นๆ ที่บริเวณผิวเล็บ (pitting nail) การวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่ สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก มีเพียงบางรายที่อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัย วิธีการรักษามีหลายวิธีเช่น 1.การฉีดยาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหย่อมผมร่วงไม่กว้างมากนักเป็นการรักษาที่ให้ผลดี เนื่องจากการฉีดยาทำให้มีความเข้มข้นของยาที่บริเวณรากผมมากกว่าการทายา 2. การทายาเฉพาะที่ มียาหลายชนิดที่ให้เลือกใช้การรักษาด้วยการทายาเหมาะกับผู้ป่วยที่มีผมร่วงเล็กน้อยจนถึงผมร่วงมากควรใช้ยาที่เป็นรูปแบบน้ำ หรือโลชั่นเนื่องจากความสะดวกในการใช้ 3. การใช้ยารับประทานมียาหลายชนิดให้เลือกใช้ ยาบางชนิดอาจใช้ได้ผลแต่พบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงมีผลข้างเคียงมาก
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความเห็นว่า อย่างไรก็ตามการรักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงเช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะมีผื่นบริเวณอื่นของร่างกาย ขนดก เป็นรอยขาวหรือรอยดำที่หนังศีรษะบริเวณที่ทายา หรือยาบางชนิดมีผลข้างเคียงมาก เช่นทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแดง