กินอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง

โดย นพ. วรเศรษฐ์ สายฝน
คลินิกโรคมะเร็ง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

Q: อาหารในผู้ป่วยมะเร็งสำคัญอย่างไร ?
A: การรักษามะเร็ง ทั้งการผ่าตัด ฉายแสง หรือการใช้ยา มักมีการอักเสบหรือการสูญเสียเนื้อเยื่อเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอเพื่อซ่อมแซมร่างกาย ผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพออาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวช้าและทำให้การรักษามะเร็งไม่ได้ผลที่ดีตามควร ดังนั้นอาหารจึงเป็นส่วนเสริมที่สำคัญเพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถรับการรักษามะเร็งจนครบได้

Q: อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกิน ?
A: ควรกินอาหาร สุก สะอาด มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนทั้งจากพืช และสัตว์ ผัก ผลไม้ ต้องปอกเปลือกและล้างให้สะอาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ

Q: อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง ?
A: หลีกเลี่ยง อาหารหมักดอง อาหารไม่สด ไม่สะอาด อาหารทิ้งไว้ข้ามคืน ในช่วงได้รับการรักษา งดกินผักสด ผลไม้เปลือกบางที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น ชมพู่ เลิกแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่

Q: ผู้ป่วยมะเร็งกินเนื้อสัตว์ได้หรือไม่ ?
A: ความเชื่อที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้มะเร็งโตเร็วขึ้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากมะเร็งไม่ได้เลือกว่าจะใช้พลังงานจากอาหารประเภทใดโดยเฉพาะ เนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและครบถ้วน ผู้ป่วยมะเร็งจึงควรเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ไม่ติดมัน และกินให้หลากหลายชนิด ผู้ป่วยสามารถกินอาหารทะเลที่ปรุงสุกแล้วได้ ผู้ป่วยที่กินมังสวิรัติ ควรกินโปรตีนจากไข่ หรือ นม เพิ่มเติม

Q: จริงหรือไม่ว่าการกิน เต้าหู้ น้ำมะพร้าว ทำให้มะเร็งเต้านมโตเร็ว ?
A: เต้าหู้ น้ำมะพร้าว มีสาร phytoestrogen ในปริมาณน้อย ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้

Q: จะทราบได้อย่างไรว่าระหว่างได้รับการรักษากินอาหารได้เพียงพอ ?
A:หากร่างกายได้รับพลังงานและโปรตีนได้เพียงพอ น้ำหนักตัวของผู้ป่วยไม่ควรจะลดลงระหว่างการรักษา มีการศึกษาชัดเจนว่าการที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลง จะส่งผลเสียต่อการรักษา ดังนั้น หากผู้ป่วยไม่สามารถกินอาหารได้เพียงพอ แนะนำให้กินอาหารทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อทดแทนหรือเสริมจากอาหารมื้อหลัก