เรื่องของกล้วยที่ไม่กล้วยๆ

ประโยชน์พึงรู้ของ ‘กล้วย’ ผลไม้ที่หาซื้อง่าย ไม่แพง และดีต่อสุขภาพ
กล้วยอุดมด้วยสารอาหารหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กล้วยหอมผลสุกขนาดปกติ (126 กรัม) โดยประมาณจะให้พลังงาน 112 แคลอรี และไม่มีไขมันเลย แต่มีสารอาหารอื่นๆ เยอะมาก ที่สำคัญคือ
          - โพแทสเซียม 10% (ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันหรือ DV)
             เป็นแร่ธาตุสำคัญที่เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายต้องการ เป็นอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) กล่าวคือ แร่ธาตุที่นำไฟฟ้าได้ และด้วยปริมาณน้อยนิดก็สามารถทำให้เกิดสภาวะสมดุลระหว่างแร่ธาตุที่ละลายอยู่ด้วยกัน และการสร้างสมดุลของระดับของเหลวในเซลล์ต่างๆ ของร่างกายนี้เองที่เป็นบทบาทหลักของโพแทสเซียม และที่เรารู้กันดีคือโพแทสเซียมช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อและคงระดับความดันเลือดให้ปกติ
          - เลคติน 1 กรัมและวิตามินซี 12%DV
            เลคตินเป็นไกลโคโปรตีน พบได้ในผักผลไม้หลายอย่าง ให้ผลทั้งดีและร้ายต่อร่างกาย แต่เลคตินที่อยู่ในกล้วยหอมเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการย่อยและดูดซับคาร์โบไฮเดรตจึงสามารถป้องกันการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินจากการศึกษาพบว่าเลคตินในกล้วยช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมียโตเพราะคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อว่าทำงานร่วมกับวิตามินซี ช่วยกำจัดโมเลกุลอิสระที่อาจสะสมในร่างกายจนทำร้ายเซลล์และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
            ขณะที่วิตามินซีช่วยดูแลสุขภาพผิวและกระดูก ปริมาณวิตามินซีในผลกล้วยสุกจะลดลงเมื่อโดนแสงหรือความร้อน เมื่อซื้อมาจึงควรเก็บในที่เย็นและไม่โดนแสง
          ตระกูลวิตามินบี
          - บี2หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) 7% DV
            เป็นโคเอนไซม์ที่ช่วยในเรื่องการเติบโตของเซลล์ การสร้างพลังงาน และการย่อยสลายไขมัน สเตียรอยด์ และยา ร่างกายนำไปใช้ทันทีและไม่เก็บสะสมไว้ ส่วนที่เกินจึงถูกขับถ่ายออกมา แบคทีเรียในลำไส้สามารถผลิตได้เองแต่ปริมาณต่ำ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงต้องรับเพิ่มจากมื้ออาหารที่รับประทานหรือในรูปอาหารเสริม (supplement)
          - บี3 หรือ ไนอาซิน (Niacin) 5%DV
            เป็นโคเอนไซม์ที่มีเอนไซม์อื่นๆ ต้องทำงานร่วมกว่า 400 ตัว นอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถเปลี่ยนทริพโตเฟน (tryptophan) ซึ่งเป็นกรดแอมิโน (amino acid) ให้เป็นบี3 ได้ และเมื่อมีปริมาณเกินความต้องการร่างกายก็จะขับถ่ายออกมา วิตามินบี3มีบทบาทสำคัญช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีนให้เป็นพลังงาน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล สร้างและซ่อมแซม DNA และเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ
          - บี6หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine)33%DV
            ช่วยในกระบวนการเผาผลาญและการผลิตสารสื่อนำประสาท (neurotransmitters) และคุมความสมดุลย์ฮอร์โมนสำคัญอย่าง serotonin และ melatonin การได้รับวิตามินบี6 เพียงพอช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง รูมาตอยด์ หัวใจ และซึมเศร้า ขณะที่การวิจัยในสตรีมีครรภ์พบว่าวิตามินบี6 ช่วยลดอาการแพ้ท้อง เมื่อรับภายใต้การดูแลของแพทย์
            สารอาหารหลักอื่นๆ ในกล้วยก็มี โฟเลต (ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง) 6%DVทองแดง (ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว) 11%DV และ แมกนีเซียม (สำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ) 8% DV


พอดีคือทางสายกลาง
           แต่แน่นอนว่าประโยชน์จากธรรมชาติจะก่อเกิดเมื่อรับในปริมาณที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของร่างกาย สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (AHA) แนะนำโพแทสเซียม วันละ 2,600 มก. ในสตรี และ 3,400 มก.ในบุรุษ
           คิดคร่าวๆ ก็จะเป็นกล้วยวันละ 1-2 ลูกหากมากเกินไปจะทำให้โพแทสเซียมในกะแสเลือดสูงเกินมาตรฐาน เรียกว่า Hyperkalemia และเป็นอันตราย พึงระลึกไว้เสมอว่าร่างกายได้รับโพแทสเซียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย ไม่เพียงจากกล้วยเท่านั้น
           ในผู้สูงอายุและคนที่มีปัญหาไต ร่างกายอาจกำจัดโพแทสเซียมออกจากกระแสเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้หัวใจเต้นไม่ปกติ หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นหัวใจวาย
           นอกจากนี้ สารต่างๆ ที่อยู่ในกล้วยส่งผลต่างกันไปในร่างกายแต่ละคน จึงมีกลุ่มคนที่แพ้กล้วยและแสดงอาการแตกต่างกันไป เช่น คัน มีผื่น หายใจไม่ออก ก็ต้องสังเกตุตัวเองและระมัดระวัง