รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใบบัวบกเป็นพืชที่เหมาะสำหรับเตรียมเป็นเครื่องดื่มและอาหาร หรือเป็นผัก ช่วงอากาศร้อน ช่วงเที่ยงถึงบ่ายสอง อันเป็นช่วงเวลาที่ธาตุไฟในจักรวาลแรงกล้า เหมาะสำหรับวัยรุ่นมากที่สุด เพราะเป็นอายุที่มีธาตุไฟประจำกาย เนื่องจากใบบัวบกมีรสขม ใช้ลดความร้อนในร่างกาย
ตามตำราแผนโบราณ คำว่า บัวบก มีสองชนิด คือ บัวบกหัว (Stephania erecta, Craib, Menisapermaceae) และบัวบกใบ หรือที่เรียกว่า ผักหนอก (Centella asiaica, Umbelliferae) คือ บัวบกที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นพืชที่ขึ้นง่ายตามที่ชื้นแฉะ เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ใบกลมประมาณนิ้วครึ่ง ริมใบจัก ยาไทยกล่าวว่า ใบบัวบกเป็นยาบำรุง รักษาโรคผิวหนัง โรคประสาท ขับปัสสาวะ ต้นและใบเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลียเมื่อยล้า แก้ท้องเสีย อาการเริ่มเป็นบิด คนจีนใช้ตำละลายน้ำผสมน้ำตาล เป็นยาแก้ร้อนใน แก้ช้ำใน แก้อ่อนเพลียได้ดี สรรพคุณในตำราจีนกล่าวว่า ใบมีรสขมเล็กน้อย เผ็ดเล็กน้อย เย็นจัด หรือหนาว ในทางจีนใช้ขับความร้อน ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้บวม ใช้ในอาการไข้หวัดใหญ่ ใช้ในอาหารเป็นพิษ ใช้ขนาด 15-30 กรัม (แห้ง) บำรุงตับ ใช้ขนาด 250 กรัม ต้มในน้ำตาล นอกจากนี้ ยังใช้ถอนพิษ
ในทางการแพทย์ล้านนา พบตำรับยาที่เข้าผักหนอก ได้แก่ ยาแก้ปิ (ลมแดด หรือเวลาหิวข้าว) ยามะเร็งครุตขึ้นหัว (ปวดหัวข้างเดียวมาก) ยาลมเกี่ยว (ตะคริว) และยาผีเครือสันนิบาต โดยมีตัวยาอื่นเป็นส่วนร่วม นอกจากนี้ ชาวล้านนายังใช้ ใบสดรับประทานเป็นผักแกล้มน้ำพริกปลา
ในด้านพฤกษเคมี พบว่า ใบและรากบัวบกมีสารสำคัญ คือไทรเทอร์ปีนส์ พบกรดเอเชียติก เอเชียติโคไซด์ มาเดคอสซอล มาเดคาสสิก และอื่น ๆ นอกจากนี้ ประกอบด้วย น้ำมันหอมระเหยเล็กน้อย และฟลาโวนอยด์ น้ำที่คั้นได้ พบเอเชียติโคไซด์มากที่สุด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิว นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งอาการคัน ช่วยยับยั้งเชื้อกลาก สารสกัดด้วยน้ำยังสามารถช่วยลดการติดเชื้อที่เกิดหนอง ทำให้เหมาะสมในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ภายนอก ลดการอักเสบของแผลในช่องปาก และอื่น ๆ
รายงานการวิจัยพบว่า สารสกัดรวมในกลุ่มไทรเทอพีนอยด์ (total triterpenoid fraction) ของใบบัวบก มีผลในการรักษาอาการเส้นเลือดขอดได้ (1) การใช้บัวบกเพื่อลดความดันโลหิต มีใช้ในรูปแบบของยาตำรับ พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ แต่ไม่ควรใช้บัวบกในขนาดสูงเป็นเวลานาน
มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ของคนที่รับประทานสารสกัดจากบัวบกในรูปแบบยาเม็ดเพื่อลดน้ำหนัก พบว่า เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งเมื่อหยุดใช้อาการก็จะดีขึ้น ดังนั้น ควรจะระมัดระวังในการรับประทานบัวบกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และการใช้ร่วมกับยาลดความดันบางชนิด เช่น อีนาลาปริล และ เอมโลไดพริน อาจทำให้ระดับยาในเลือดสูง เนื่องจากบัวบกยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดยาดังกล่าวออกจากร่างกาย บัวบก ช่วยให้แผลเป็นจางลงได้ ซึ่งควรทาในช่วงที่เป็นแผลใหม่ และแผลไม่ใหญ่จนเกินไป มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล(1)
ดังนั้น จะเห็นว่าใบบัวบก หรือผักหนอก มีประโยชน์ทั้งเป็นอาหาร เป็นยาเย็น แก้อ่อนเพลีย ยังใช้เป็นยาภายนอกอีกด้วย เป็นสมุนไพรธรรมดา แต่ก็มีคุณค่ามากหลายสมควรปลูกไว้ใกล้ตัว
เอกสารอ้างอิง : http://www.medplant.mahidol.ac.th/index.asp
ปรึกษาเรื่องสมุนไพร/ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพได้ที่ :
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
: e-mail:pharpost@gmail.com
: www.pharmacy.cmu.ac.th