เหน็บ...เจ็บชาปลายมือ เท้า ขา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เว็บไซต์คนไทยไร้พุง

หลายคนคงเคยเกิดอาการ “เหน็บชา” โดยเฉพาะตามปลายมือหรือเท้า มีอาการยุบยิบหรือคล้ายเข็มเล็ก ๆ ทิ่มจำนวนมาก

         หลายคนคงเคยเกิดอาการ “เหน็บชา” โดยเฉพาะตามปลายมือหรือเท้า มีอาการยุบยิบหรือคล้ายเข็มเล็ก ๆ ทิ่มจำนวนมาก ซึ่งอาการนี้โดยทั่วไปแล้วเกิดได้ทั้งจากการกดทับเส้นประสาทส่วนปลายช่วงแขน ข้อมือ เท้าหรือข้อเท้า เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือการขาดสารอาหารบางประเภทก็ได้ ซึ่งสาเหตุหลักที่ไม่รุนแรง มีดังนี้
         - การนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ขาดการขยับเขยื้อนเป็นช่วงเวลาหนึ่ง
         - การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 บี 12 ซึ่งมีสาเหตุที่ระบุได้ ซึ่งแก้ไขและป้องกันได้ไม่ยาก
         สาเหตุของการเกิดอาการเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 1
         - ขาดการบริโภคแหล่งธัญพืชบางชนิด โดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสีไป เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถั่วต่าง ๆ ลูกเดือย ข้าวโพด เพราะวิตามินบี 1 จะอยู่ในส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งจะสูญหายไปหลังจากที่ขัดเมล็ดจนกลายเป็นข้าวขาว หรือผลิตภัณฑ์แป้งขัดขาว
         - บริโภคอาหารที่ขัดขวางกระบวนการดูดซึมวิตามินบี 1 เช่น พืชบางชนิด อาทิ ใบเมี่ยง หมากพลู ดื่มชา ปลาร้า แหนมดิบ ปลาส้มดิบ หอยดิบ ไข่ที่ไม่สุก
         - ความต้องการของร่างกายสูงขึ้นชั่วคราว จากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร เด็กที่อยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโต คนที่มีการใช้แรงงานร่างกายหนักกว่าปกติ นักกีฬา ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน ผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ
         - อาการเจ็บป่วยบางชนิด เช่น มีการผ่าตัดเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ทำให้การเมตาบอลิสมของวิตามินบี 1 เปลี่ยนไป
สาเหตุของการเกิดอาการเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 12
         - เกิดความผิดปกติภายในกระเพาะอาหารที่สร้างสารช่วยดูดซึมวิตามิน B12 ทำให้วิตามินนี้ไม่สามารถดูดซึมได้ รวมทั้งผู้ที่มีการผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนปลาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูดซึมวิตามิน B12
         - ผู้ที่รับประทานอาหารแบบมังสวิรัติแบบเคร่ง ที่ไม่ดื่มนม กินปลาหรือไข่เลย เนื่องจากวิตามินบี 12 พบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์
         หากมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย ควรทำอย่างไร ?
         กลุ่มที่มีความผิดปกติรุนแรงนั้น เช่น รายที่มีภาวะของการทำลายเส้นประสาทรอบนอกจากโรคบางชนิด เช่น ภาวะเบาหวาน โรคใด ๆ ที่เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองหรือไขสันหลังก็สามารถเกิดอาการเหน็บชาได้เช่นกัน ซึ่งหากมีอาการเหน็บชาร่วมกับอาการผิดปกติอื่นด้วย และมีระยะเวลาที่มีอาการยาวนานหรืออาการมีความรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด และไม่ควรตัดสินใจซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานเอง
         เราจะป้องกันอาการเหน็บชาได้อย่างไร
         1. เลือกรับประทานอาหารกลุ่มธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ลูกเดือย ข้าวฟ่าง งาต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อให้ได้รับวิตามินบี 1 เป็นประจำ
         2. เลือกรับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์เป็นปกติ แต่ให้ความสำคัญในการเลือกให้ไขมันไม่สูงเกินไป โดยตัดมันหรือหนังทิ้งออกไปก่อนนำมาปรุงอาหาร จะทำให้ได้รับวิตามินบี 12 เพียงพอ
         3. สำหรับปัญหาเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ควรมีการวางแผนการออกกำลังกายให้ครบถ้วนเป็นประจำ และอาจปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเบื้องต้นได้ หากต้องการคำแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเอง