ภาวะเลือดหนืด ( Polycythemia )

ภาวะเลือดหนืด ( Polycythemia ) โดยทั่วไปภาวะเลือดหนืดในระยะแรกมักไม่มีอาการ ตรวจพบได้จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือการตรวจซีบีซี CBC จากการตรวจสุขภาพทั่วไป แต่เมื่อเป็นมากขึ้น คือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงสูงขึ้นมาก จะมีอาการมีเม็ดเลือดแดงที่สูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นหรือเลือดหนืดขึ้น เลือดจึงไหลเวียนได้ช้าลง ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดช้าลงหรือเลือดติดขัด

อาการของเลือดหนืด
          อาการของภาวะเลือดหนืดที่พบได้บ่อย ได้แก่ วิงเวียน หน้ามืด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก มีจุดแดง ๆ เป็นจ้ำ ๆ ทั่วตัว หน้าแดง ตาแดงที่ไม่ได้เกิดจากลูกตาติดเชื้อ ตาพร่า ปวดเมื่อย บวม เป็นต้น

สาเหตุของเลือดหนืด
          ภาวะเลือดหนืดมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ปัญหาจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือด น้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ ดังนี้
          -  ภาวะเลือดหนืดที่มีสาเหตุจากปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง มักมีสาเหตุมาจากการที่มีน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย
          - ภาวะเลือดหนืดที่มีสาเหตุจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาในปริมาณที่มากเกินไป แบ่งได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
          1. ภาวะเลือดหนืดที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ( Primary Polycythemia ) มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู ( JAK2 ) ทำให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณที่มากผิดปกติ และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดในปริมาณที่มากผิดปกติด้วยเช่นกัน
          2. ภาวะเลือดหนืดที่มีสาเหตุมาจากการผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน ( Erythropoietin ) ในปริมาณที่มากเกินไป ( Secondary Polycythemia ) หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
          - ปัญหาที่เกี่ยวกับไต เช่น การตีบของหลอดเลือดแดงในไต หรือเนื้องอกในไต เป็นต้น
          - โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ( Chronic Obstructive Pulmonary Disease – COPD ) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ( Sleep Apnoea ) ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ จึงผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิตินมากขึ้น

การรักษาโรคเลือดหนืด
          1.การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง ที่ได้ผลรวดเร็ว ลดอาการต่าง ๆ ได้รวดเร็ว คือ การเจาะเลือดออกทิ้ง ที่เรียกว่า Phlebotomy ซึ่งการเจาะเอาเลือดออกจะทำเป็นระยะ ๆ ถี่หรือห่างขึ้นกับจำนวนเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงมากหรือสูงน้อย อาการ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย นอกจากนั้น คือ การให้ยาชนิดต่าง ๆ เพื่อลดการทำงานของไขกระดูก เช่น ยาเคมีบำบัด ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาน้ำแร่รังสี ซึ่งการจะเลือกยาตัวใดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของอาการ ปริมาณเม็ดเลือดแดง และการตอบสนองหรือการดื้อต่อยา ผลการรักษาจากยาชนิดต่าง ๆ
          2.การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดความดันโลหิตที่สูง การให้ยาลดการแข็งตัวของเลือดหรือลดการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากภาวะเลือดหนืด
          ภาวะเลือดหนืดอาจเกิดจากการล้มเหลวของการไหลเวียนเลือดจากเลือดที่ข้นขึ้นมากและจากภาวะลิ่มเลือด โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาการคันผิวหนังโดยเฉพาะ รวมถึงเกิดแผลต่าง ๆ ได้ง่ายที่บริเวณผิวหนังและที่เยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่โรคนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ประมาณ 15% โดยมักเกิดหลังการวินิจฉัยโรคเลือดหนืดได้ประมาณ 10 ปีขึ้นไปแล้ว

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเลือดหนืด
          - กินยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
          - รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
          - ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
          - รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ
          - รักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัด
          - เมื่อเป็นแผลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และแผลไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์

วิธีป้องกันเลือดหนืด
          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันเลือดหนืด แต่การตรวจสุขภาพประจำปี โดยการตรวจเลือดซีบีซี จะช่วยให้พบโรคนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาควบคุมโรคได้ผลดีมากกว่าเมื่อมีอาการมากแล้วจึงไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง
       Marchioli,R. et al (2013). N Engl J Med. 368, 22-33.
       Sturt,B., and Viera, A. (2004). Am Fam Physician. 69, 2139-2144.
       Landolfi, R. et al.(2004). N Engl J Med. 350,114-124
       Spivak, J. et al. (2014). N Engl J Med. 371, 808-817.
       http://emedicine.medscape.com/article/205114-overview#showall[2017,July8]

 ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://amprohealth.com/checkup/polycythemia/