ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคเสื่อมสภาพเรื้อรังของร่างกายที่ก่อให้เกิดการอักเสบและข้อเข่าผิดรูป ทำให้ปวดหัวเข่าและอาจถึงขั้นจำกัดการเคลื่อนไหวในบางท่า ภาวะนี้เป็นสาเหตุหลักของความพิการในผู้สูงอายุ ประชากรโลกกว่า 560 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ การรักษาที่นิยมใช้กัน คือ การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Intra-articular hyaluronic acid หรือ Viscosupplementation) แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาด้วยวิธีนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก นับตั้งแต่ที่มีการทดลองทางคลินิกครั้งแรกเมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว
แนวทางปฏิบัติทั้งในระดับชาติและระดับสากลล้วนแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่สนับสนุนให้ใช้วิธี Viscosupplementation ในการรักษา ในประเทศอังกฤษสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health and Care Excellence: NHS) แนะนำไม่ให้ใช้การบำบัดด้วย Viscosupplementation วิธีนี้จึงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อย ยกเว้นบางเคสเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขในประเทศอื่นมีรัฐให้เงินสนับสนุน Viscosupplementation ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เช่น ประกัน Medicare (ของรัฐ) และบริษัทประกันเอกชนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ คุ้มครองการบำบัดด้วยวิธีนี้ และการใช้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2012-2018 ซึ่งผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมทุก 1 ใน 7 คน ได้รับ Viscosupplementation เป็นการรักษาพื้นฐาน ตัวเลขรายจ่ายไปกับการรักษาด้วย Viscosupplementation ในปี 2012 อยู่ที่ราว $287 ล้าน ขณะที่ปี 2018 อยู่ที่ $325 ล้าน แต่น่าสนใจว่าข้อมูลชี้ว่าราว 28% ของตัวเลขดังกล่าวถูกใช้ไปกับการรักษาอาการติดเชื้อที่ข้อหลังจากบำบัดด้วย Viscosupplementation
การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน British Medical Journal (BMJ) นี้จึงมุ่งหาข้อมูลล่าสุดด้านประโยชน์และความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมด้วย Viscosupplementation โดยใช้วิธีการศึกษาฐานข้อมูลการทดลองระยะเวลา 50 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญ 2 คน สุ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อความเบี่ยงเบนของการทดลองโดยใช้เครื่องมือวัดความเสี่ยงอคติ Cochrane การวิเคราะห์หลักที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอ้างอิงจากการทดลองขนาดใหญ่ที่ควบคุมยาหลอก และมีผู้เข้าร่วมการทดลองไม่เกิน 100 คน ส่วนการสรุปผลใช้รูปแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis model) หมายถึง วิธีการทางสถิติที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ กัน
ผลการศึกษาพบว่า อคติในการตีพิมพ์งานวิจัยที่เกี่ยวกับอาการเจ็บปวดมีน้อย แต่การทดลองขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีควบคุมยาหลอก จำนวน 24 งาน (ผู้เข้าร่วมการทดลองแบบสุ่ม 8,997 คน) ระบุว่า Viscosupplementation ลดความรุนแรงของอาการปวดเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก สอดคล้องกับคะแนนส่วนต่างของความเจ็บที่ -2.0 mm ตามเครื่องมือที่ใช้วัดความปวด visual analogue scale 100 mm และจากการวิเคราะห์ความปวดด้วย Trial sequential analysis พบว่า มีหลักฐานที่ยอมรับกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2009 ว่า Viscosupplementation และการรักษาแบบหลอก (placebo controlled trial) ให้ผลลดปวดไม่ต่างกัน
จึงสรุปว่า มีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ว่า Viscosupplementation ให้ผลลดความปวดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเพียงเล็กน้อย ขณะที่การรักษาด้วยวิธีนี้มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ตามมา จึงไม่ส่งเสริมให้ใช้ Viscosupplementation รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ข้อมูล:
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9258606/#__sec10title