โรคบาดทะยัก (Tetanus)

เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostidium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา  เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ  ทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้

สาเหตุ
          เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่าง  เชื้อสามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท

ระบาดวิทยา
          โรคบาดทะยักพบได้ทั่วทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์ พบได้ในดิน ตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือน ๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแบ่งตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าไม่ได้ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือเข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้
          ทางเข้าที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในทารกแรกเกิด คือ เชื้อเข้าทางสายสะดือที่ตัดด้วยกรรไกรหรือของมีคมที่ไม่สะอาด ที่พบบ่อยในชนบท คือ การใช้ไม้ไผ่หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือและการพอกสะดือด้วยยากลางบ้านหรือโรยด้วยแป้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดที่สะดือ ทำให้เกิดโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด ซึ่งมีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 20-50

อาการและอาการแสดง
          หลังจากได้รับเชื้อ สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต exotoxin  โดยกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-21 วัน เฉลี่ย 8 วัน
          1) บาดทะยักในทารกแรกเกิด อาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 4-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้ คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้ เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาเด็กจะดูดนมไม่ได้เลย หน้าแบบยิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องคราง ต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระตุกและหน้าเขียว อาการเกร็ง หลังแข็ง และหลังแอ่นนี้ จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระตุก ถ้าเป็นถี่ ๆ มากขึ้นจะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน
          2) บาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นก็ได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรกที่จะสังเกตพบ คือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้  มีคอแข็ง หลังจากนี้ 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย คือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็ง ให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะ และระยะต่อไปก็อาจมีอาการกระตุกเช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็งและกระตุกมากขึ้น มีหลังแอ่น และหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้

การวินิจฉัยโรค
          อาจจะเพาะเชื้อ C. tetani ได้จากแผล โดยทั่วไปแล้วมักจะเพาะเชื้อไม่ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงอาศัยอาการทางคลินิก
          โรคบาดทะยักจะวินิจฉัยแยกโรคจากโรคสมองอักเสบได้จากการที่โรคบาดทะยักไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับการรู้สติ นอกจากในรายที่ชักมากจนสมองขาดออกซิเจน

การรักษาพยาบาล
          1) การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปาก แสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้
          2) การรักษาเฉพาะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10,000-20,000* หน่วย เข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วย เข้ากล้าม เพื่อให้ไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่ไปจับที่ระบบประสาท ให้ยาปฏิชีวนะ penicillin ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C. tetani ที่บาดแผล
           หมายเหตุ *ก่อนให้ antitoxin ต้องทำ skin test
           3) ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาระงับชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดอาหารและน้ำทางปากในขณะที่มีอาการเกร็งหรือชัก ให้อาหารทางหลอดเลือด
           4) ดูแลเรื่องการหายใจ

การป้องกัน
          1) เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อ ถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย
          2) ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน 1/2 -1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็ดด้วย Alcohol 70% เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่าง ๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ
          3) ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้ tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบ และให้ TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้วัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิน 24 ชั่วโมง ให้ T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว พร้อมกับให้ TAT ด้วย
          4) ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยัก ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ
          การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ให้วัคซีนป้องกัน DTP ตั้งแต่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน และเพิ่มอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปี โดยให้เป็น T หรือ dT สำหรับการป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิด ทางที่ดีที่สุด คือ การคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ดูแลสะดือดังกล่าวข้างต้น และที่ได้ผลดี คือ การให้ dT แก่หญิงมีครรภ์ โดยให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายควรจะต้องให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หญิงมีครรภ์ที่ได้รับ T 2 ครั้งตามกำหนดนี้ จะสร้าง antitoxin ซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูงพอที่จะป้องกันโรคบาดทะยักได้ และ antitoxin จะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปี แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีด T เข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือน หลังเข็มที่ 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับ 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 10 ปี ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง จะแนะนำให้ T แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ 3 ครั้ง 2 ครั้งแรก ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  :  http://dcd.ddc.moph.go.th/2016/knowledges/view/16