ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกับสมุนไพรถั่งเช่า

เภสัชกรประจำคลินิกโรคไตเรื้อรัง
หน่วยบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
ที่ปรึกษา ผศ.พญ. ไกรวิพร เกียรติสุนทร
รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย

ถั่งเช่า คืออะไร
          สมุนไพรถั่งเช่า, ตังถั่งเช่า, ตังถั่งแห่เช่า หรือ “หญ้าหนอน” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นตัวหนอนของผีเสื้อ และบนตัวหนอนมีเชื้อราเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. ในฤดูหนาวหนอนจะฝังตัวอยู่ใต้ดิน ในหน้าร้อนหนอนเหล่านั้นจะกินสปอร์เห็ดที่มาตกอยู่ตามพื้นดินเข้าไป เมื่อเห็ดเติบโตออกมาเป็นเส้นใยจากปากของตัวหนอนงอกขึ้นสู่พื้นดิน จะมีรูปร่างภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนจะค่อย ๆ แห้งตายไป ดังนั้น “ถั่งเช่า” ที่มีการนำมาใช้ คือ ส่วนของตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง

ถั่งเช่า มีกี่ชนิด
          ในปัจจุบันถั่งเช่าแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
          1. ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) เป็นถั่งเช่าชนิดที่พบตามธรรมชาติและเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง
          2. ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) เป็นถั่งเช่าชนิดที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง

สารออกฤทธิ์ในถั่งเช่า
           สารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในถังเช่า ได้แก่ สารอะดิโนซีน (adenosine) และสารคอร์ไดซิพิน (cordycepin) ซึ่งถั่งเช่าแต่ละชนิดจะมีปริมาณสารสำคัญที่แตกต่างกัน
           1. ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่พบตามธรรมชาติ มีสารอะดิโนซีนเป็นหลัก และมีสารคอร์ไดซิพินในปริมาณน้อยมาก ส่วนถั่งเช่าทิเบตที่มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ส่วนใหญ่มีสารอะดิโนซีนและตรวจไม่พบสารคอร์ไดซิพิน
           2. ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ส่วนใหญ่มีสารคอร์ไดซิพินในปริมาณสูง
           จากการศึกษาถึงสรรพคุณของถั่งเช่าในทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า สารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในถั่งเช่ามีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศได้  จึงส่งผลให้สมุนไพรถั่งเช่าเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน
           อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาในคน ยังไม่ชัดเจน เป็นการศึกษาในคนจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน

การใช้สมุนไพรถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
          เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีการทำงานของไตลดลง พบว่า ในถั่งเช่าสีทองมีสารคอร์ไดซิพินที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) คล้ายยาบรรเทาปวดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือกลุ่มเอ็นเสด (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) การใช้ในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้การทำงานของไตลดลงเฉียบพลันได้ ส่วนการใช้ถั่งเช่าทิเบตซึ่งมีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สารอะดิโนซีน ไม่พบรายงานการเกิดพิษต่อไต ยกเว้นในกรณีพบการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนู ซึ่งทำให้เกิดพิษต่อไตได้  จึงควรระวังการใช้เช่นกัน
          จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์โดยเฉพาะการทดลองในคนที่สนับสนุนหรือคัดค้านประโยชน์ของถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไต และที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีความหลากหลายในแหล่งที่มา การเพาะเลี้ยงและสารออกฤทธิ์อื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจึงไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่า หากต้องการรับประทานควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาและไม่ควรหยุดยาแผนปัจจุบันที่รับประทานอยู่

คำแนะนำในการใช้สมุนไพรถั่งเช่า
     1. การใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาบางชนิด อาจเกิดปัญหายาตีกัน ส่งผลให้มีฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้น หรือต้านฤทธิ์ของยาและเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ยาที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ถั่งเช่า ได้แก่
          1.1 ยาบรรเทาปวดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือกลุ่มเอ็นเสด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาบรรเทาปวดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง การทำงานของไตลดลง และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
          1.2 ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือด ควรระวังการใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาวาร์ฟาริน (warfarin), แอสไพริน (aspirin), ไทคากริลอร (ticagrelor) และโคลพิโดเกรล (clopidogrel) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเลือดออก
          1.3 ยากลุ่มอื่น เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine), ยาอะซาไธโอพรีน (azathioprine), ยาทาโครลิมัส (tacrolimus), ยาซัยโรลิมัส (sirolimus) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เมื่อใช้ร่วมกับถั่งเช่า อาจทำให้ฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันลดลงและส่งผลต่อการรักษาโรคได้
     2. การใช้สมุนไพรถั่งเช่าในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม
          2.1 กลุ่มผู้ป่วยโรคเกาต์ การรับประทานถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคเกาต์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูง อาจส่งผลให้มีระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น และส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง
         2.2 กลุ่มผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรถั่งเช่าในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี, ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทอักเสบ หรือรูมาตอยด์ เพราะถั่งเช่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อไต และอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
         2.3 หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรถั่งเช่า เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยจากการใช้ถั่งเช่า

เอกสารอ้างอิง
         1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ถังเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพจริงหรือ. จุลสารคณะเภสัชศาสตร์ 2556;8:6-7.
         2. Mayuree Tangkiatkumjai, Nannapasra Sansuk, Supatyada Chaiyarak, Suwannee Sriprach, Ueamporn Lumboot, Warayut Absuwan, et al. Acute Kidney Injury Related to Cordycepin: Thirteen Cases from Thailand. 2021.
       3. มยุุรี ตั้งเกียรติกำจาย. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับถั่งเช่าทิเบตและถั่งเช่าสีทอง. วารสารสมาคมเภสัชกรรมชุุมชน 2564; 20(114): 49-54.

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  :  https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1508