กินดี me สุข

‘อาหาร’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นองค์ประกอบที่อยู่ในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา จนเกือบถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของอาหารมากขนาดนั้น และเลือกบริโภคไม่ถูกต้อง จนส่งผลเสีย ทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือโรคภัยต่าง ๆ ขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง
          ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนา วันอาหารโลก “Food For Better Life กินดี me สุข” เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสมตามหลักโภชนาการ

          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้เล่าถึงที่มาและความสำคัญของงานเสวนาครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันอาหารโลก หรือ World Food Day ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญกับระบบอาหารเป็นอย่างยิ่ง และได้มีการเชื่อมโยงการทำงานในเรื่องนี้กับหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของเกษตรกร ผู้จัดการด้านตลาด และผู้บริโภค ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ไทยสามารถรอดพ้นวิกฤติมาได้ เพราะมีระบบอาหารที่ยั่งยืน และเป็นสิ่งที่เราจะต้องขับเคลื่อนกันต่อไป บ้านเมืองของเรานับว่ามีต้นทุนทางอาหารที่ดีมาก จึงอยากจุดประกายให้ความสำคัญ และหาแนวทางพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิต การกระจายอาหาร และมิติของการบริโภคให้เกิดสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

          ในส่วนการทำงานของภาครัฐอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าว่า ความมั่นคงทางอาหาร และระบบอาหารเป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรให้ความสำคัญ โดยยึดนโยบาย 3S คือ Safety ความปลอดภัย Security ความมั่นคงทางอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารหลัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ นำไปสู่การบริโภคและการจัดการ ที่ยั่งยืน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัย การใช้ชีวพันธุ์ หรือเกษตรอินทรีย์ตลอดระบบห่วงโซ่อาหาร ลดการใช้สารเคมี รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

          4 พฤติกรรมการกินที่ดี ปลอดภัย ไกลโรค
          1. กินอาหารตรงเวลาเพื่อการย่อยอาหารได้ดี กินอาหารหลากหลาย สับเปลี่ยนเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
          2. งดปรุงรสเพิ่ม เน้นกินรสจืด
          3. กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด ไม่พูดคุยขณะกิน และกินแต่พออิ่ม ไม่กินไปดื่มน้ำไป ควรกินน้ำหลังมื้ออาหาร
          4. หลังกินอาหารไม่ควรทำกิจกรรมทันที เพื่อป้องกันการจุกเสียดท้อง ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อป้องกันโรคท้องผูกและเบื่ออาหาร

          สสส. และภาคีเครือข่ายยังคงร่วมกันขับเคลื่อนระบบอาหารที่มั่นคง รวมทั้งสนับสนุนและพัฒนาวิถีการผลิตดั้งเดิมตามภูมิปัญญาของชุมชน ให้มีความมั่นคงทางอาหาร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับความเกื้อกูลต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับพฤติกรรม ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะอย่างยั่งยืน
          เพราะอาหารการกิน เป็นเรื่องสำคัญ ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารทุกวัน ดังนั้น เราต้องคิดก่อนกินทุกครั้ง อย่าให้พฤติกรรมการบริโภค ทำให้ เกิดโรคภัยต่าง ๆ ความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการจึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนัก และนำมาปรับใช้อยู่เสมอ สุขภาพของเราจะดีหรือไม่ เราเลือกได้ด้วยการเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องนำไปใช้ในแต่ละวัน เน้นไขมันดี และผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดแป้ง หรืออาหารที่ให้พลังงานสูง รวมทั้งลดหวาน มัน เค็ม เพียงแค่เริ่มจากการกินที่ดี ชีวิตก็จะมีความสุข ‘เพราะจิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง’

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนา “Food For Better Life กินดี me สุข” เนื่องในวันอาหารโลก “World Food Day” ประจำปี 2565 และหนังสือ Foot & Fit กินเป็น ขยับบ่อย สุขภาพดี SOOK Library
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
https://www.thaihealth.or.th/?p=314137