การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และไข้ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า อาการที่เด็กเป็นนี้ เกิดจากโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ลองมาดูความแตกต่าง เพื่อการดูแลและป้องกันที่ถูกต้อง
ไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ อาการมักไม่รุนแรงมาก เช่น
- มีไข้
- ไอ มีเสมหะ
- มีน้ำมูก จาม
- คัดจมูก
- อ่อนเพลีย
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza โดยที่ระบาดในคนมักเกิดจากสายพันธุ์ A และ B สำหรับอาการแสดง จะรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดามาก
- มีไข้สูง
- ไอ เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ทานไม่ค่อยได้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- บางรายอาจหนาวสั่น
- บางรายอาจมีท้องเสียร่วมด้วย
กลุ่มเสี่ยงของโรคไข้หวัดใหญ่
- อายุ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
- โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ
- สตรีมีครรภ์
อย่างไรก็ดี หากเด็กมีไข้ร่วมกับอาการฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น ชัก หายใจหอบ อาเจียน อุจจาระเหลว ปัสสาวะน้อย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากแพทย์เห็นสมควรให้รักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะ ควรให้เด็กได้รับยาจนครบตามกำหนด และหมั่นสังเกตอาการ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลงควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัดติดตามอาการ
วัคซีนป้องไข้หวัดใหญ่
- เด็กสามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุน้อยกว่า 8 ในปีแรกควรรับวัคซีน 2 เข็มและ 1 เข็มในปีต่อไป
- เด็กอายุมากกว่า 8 ปี ควรรับวัคซีน ปีละ 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการปลูกฝังการล้างมือเป็นประจำ รับประทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ควรรับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำ