โดย เมดไทย ปรับปรุงเมื่อ 02 กันยายน 2020 (เวลา 00:41 น.)
ทองพันชั่ง ชื่อสามัญ White crane flower
ทองพันชั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus communis Nees) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรทองพันชั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ท่องคันชั่ง หญ้ามันไก่ (ภาคกลาง) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และมาดากัสการ์
ลักษณะของทองพันชั่ง
- ต้นทองพันชั่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร โคนของลำต้นเป็นเนื้อไม้แกนแข็ง มีกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
- ใบทองพันชั่ง เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลม ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ
- ดอกทองพันชั่ง ออกดอกเป็นช่อตรงซอกมุมใบ กลีบดอกมีสีขาว กลีบรองดอกมี 5 กลีบ และมีขน กลีบดอกติดกัน โคนเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบมีขนยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 0.1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉกแหลมสั้น ๆ ส่วนกลีบล่างแผ่กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก ส่วนก้านเกสรจะสั้นติดอยู่ที่ปากท่อดอก
- ผลทองพันชั่ง ลักษณะผลเป็นฝักและมีขน ภายในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด สมุนไพรทองพันชั่ง เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เชื้อราบนผิวหนังเป็นหลัก ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นก็ได้แก่ ต้น ใบสด รากสดหรือแห้ง และทั้ง 5 ส่วนของต้น (ต้น, ดอก, ใบ, ก้าน, ราก) และทองพันชั่งยังสามารถช่วยรักษาอาการอื่น ๆ และโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไปดูกันเลยครับ
สรรพคุณของทองพันชั่ง
- ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, ต้น)
- ช่วยแก้โรค 108 ประการ (ต้น)
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ใบ)
- ช่วยรักษาวัณโรคปอดในระยะเริ่มแรก ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 10-15 กรัม)
นำมาผสมกับน้ำตาลกรวดต้มเป็นน้ำดื่ม (ก้าน, ใบ)
- ช่วยแก้ลมสาร (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาหยอดตา (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ใบรสเบื่อเมาช่วยดับพิษไข้ หรือจะใช้รากนำมาต้มรับประทานแก้พิษไข้ก็ได้ (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้ไข้เหนือ (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการช้ำใน (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยทำให้ระบบกระเพาะอาหารทำงานได้ดีมากขึ้น (ใบ)
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้ไส้เลื่อน ไส้ลาม (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย
- ช่วยรักษาโรคนิ่ว ด้วยการใช้ทองพันชั่งทั้งต้น ดอก ใบ ก้าน และราก นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตากแดดให้แห้ง
ต้มเป็นน้ำดื่ม (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ใบ)
- ช่วยแก้โรคมุตกิดระดูขาวของสตรี (ใบ) ใช้รักษาโรคตับอักเสบ (สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์)
- ช่วยฆ่าพยาธิ (ใบ)
- ช่วยขับพยาธิตามผิวหนัง ช่วยแก้พยาธิวงแหวนตามผิวหนัง ตามบาดแผล (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดฝี (ใบ)
- ช่วยแก้พิษงู (ใบ, ราก)
- ช่วยถอนพิษ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอักเสบ (ใบ)
- ช่วยรักษาคุดทะราด (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกตามชายโครง คอเคล็ด มือเคล็ด (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส (สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์)
- ช่วยต้านยีสต์ โดยสาร Rhinacanthin C, D และ N จากใบทองพันชั่งสามารถช่วยยับยั้งเชื้อ Candida albicans ได้ (ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์) (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคผมร่วง (ต้น)
- ช่วยแก้อาการผมหงอกเนื่องจากเชื้อรา (ราก)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน ผดผื่นคันเรื้อรัง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำทองพันชั่งไปผลิตเป็นโทนเนอร์ทองพันชั่ง เพื่อความสะดวกในการหาซื้อและการนำมาใช้งาน (ใบ, ราก, ทั้งต้น) สำหรับวิธีการใช้ก็มีหลากหลายสูตร คือ
1.ใช้ใบสด 5-8 ใบ นำมาตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงผสมเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน (ใบสด)
2.ใช้ใบสดตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันดิบ หรือแอลกอฮอล์ 75% แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 1 ครั้งประมาณ 3 วัน จนกว่าจะหายขาด (ใบสด)
3.ใช้รากสด 2-3 ราก นำมาป่นแช่กับเหล้าไว้นาน 1 สัปดาห์ แล้วกรองเอาแต่น้ำยาที่แช่มาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (รากสด)
4.ใช้รากทองพันชั่งนำมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะนาวและน้ำมะขาม แล้วนำมาชโลมทาบริเวณที่เป็น (ราก)
- ใช้รากทองพันชั่งประมาณ 6-7 ราก และหัวไม้ขีดไฟ 1/2 กล่อง นำมาตำจนเข้ากันให้ละเอียด แล้วผสมน้ำมันใส่ผมหรือจะผสมกับวาสลีนเพื่อไม่ให้ยาแห้ง แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นกลากหรือโรคผิวหนังเป็นประจำ (ราก)
- ทองพันชั่งรักษามะเร็ง ช่วยยับยั้งมะเร็ง มะเร็งในกระเพาะ มะเร็งในคอ มะเร็งในปาก มะเร็งในปอด มะเร็งภายในและภายนอก ต้นทองพันชั่งมีสารสำคัญ คือ “สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์” (Naphthoquinone Ester) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีการออกฤทธิ์ในการช่วงยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก ด้วยการใช้ทั้งต้นสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำพอท่วมใบยา ต้มดื่มต่างน้ำ (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- มีผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ใช้ต้นทองพันชั่งนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยทำให้อาการของโรคดีขึ้น ช่วยทำให้น้ำเหลืองดีขึ้น เม็ดตุ่มตามตัวน้อยลง รับประทานข้าวได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงและงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ (ต้น)
สรรพคุณทองพันชั่งเมื่อใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
1. รากและต้นทองพันชั่ง เมื่อใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะช่วยยับยั้งมะเร็งเนื้องอก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะ ลำไส้ มะเร็งตามร่างกาย ส่วนใบจะใช้ยับยั้งมะเร็งไช (ราก, ต้น)
2.ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ใบทองพันชั่ง ใบชุมเห็ดไทย ไทยร่อน เมล็ดพริก ต้นเหงือกปลาหมอ นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้รับประทานหลังอาหารเช้า, เย็น ครั้งละ 5 เม็ด เป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)
3. ช่วยแก้โรคไต โรคมะเร็ง ด้วยการใช้ใบทองพันชั่งดอกเหลืองและใบเลี่ยน นำมาตากแดดจนแห้งแล้วนำไปคั่วให้หอม ใช้ชงเป็นน้ำชาไว้ดื่มเพื่อรักษาโรค (ใบ)
4. ช่วยแก้กระษัย (ราก)
5. ช่วยแก้อาการใจระส่ำระสาย แก้อาการคลุ้มคลั่ง (ใบ)
6. ช่วยแก้อาการปวดหัว ตัวร้อน (ใบ)
7. แก้อาการไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด (ราก)
8. รักษาโรครูมาติซึม (ราก)
9. รักษาโรคตับพิการ (ราก)
10. รักษาโรคไขข้อพิการ (ราก)
11. แก้ลมเข้าข้อที่ทำให้มีอาการปวดบวมต่าง ๆ (ราก)
12. ช่วยแก้หิดมะตอย (ใบ)
13. ช่วยทำให้ผมดกดำ แก้ผมหงอก ผมร่วง จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แชมพูทองพันชั่ง (ราก)
14. ช่วยแก้แมงเคียนกินรากผม แก้เหา แก้รังแค (ใบ, ราก, ต้น)
ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหืด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็งในเลือด โรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรทองพันชั่ง
ประโยชน์ของทองพันชั่ง
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่ว ๆไป (ต้น)
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รองศาสตราจารย์ ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ (นักวิจัยภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, การแยกและการพิสูจน์เอกลักษณ์สารกลุ่มควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ จากใบของต้นทองพันชั่ง (ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์), www.thaigoodview.com
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ samunpri.com, www.thaiherbalmed.com, เว็บไซต์ thaiforestherb.blogspot.com, เว็บไซต์ the-than.com เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://medthai.com