ครูป (Croup) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในเด็กเล็ก ช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza), ไวรัส อาร์ เอส วี (RSV) และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นต้น เมื่อมีการติดเชื้อจะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณกล่องเสียงลงไปจนถึงบริเวณหลอดลมส่วนต้น ส่งผลให้หลอดลมบวม ตีบแคบ และเนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก จึงทำให้มีอาการแสดงที่ชัดเจน
ลูกน้อยเป็นครูปหรือไม่? พ่อแม่สังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- มีไข้ ไอ น้ำมูก นำมาก่อนประมาณ 2 วัน
- หายใจเสียงดัง โดยเฉพาะช่วงหายใจเข้า
- ไอเสียงก้อง เสียงแหบ
- ในเด็กที่มีอาการรุนแรง เด็กจะมีอาการหอบเหนื่อย อกบุ๋ม คอบริเวณไหปลาร้ามีลักษณะบุ๋มเวลาหายใจเข้า ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์
วิธีการรักษาครูปทำได้อย่างไรบ้าง
- แพทย์ทำการประเมินสัญญาณชีพ ระดับออกซิเจน ลักษณะการหายใจของเด็กว่ามีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่
- ประเมินความรุนแรงของโรค โดยประเมินตามค่าคะแนนครูป (Croup score) จากลักษณะอาการไอ ลักษณะการหายใจ เสียงหายใจ เสียงลมเข้าปอด และระดับออกซิเจน โดยมีค่าคะแนนตั้งแต่ 0-10 คะแนน
** ในกรณีเด็กที่ประเมินแล้วอาการไม่รุนแรง ค่าคะแนนน้อยกว่า 4 คะแนน แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์โดยวิธีรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ ถ้าเด็กมีอาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้ แต่จะนัดเพื่อติดตามอาการภายใน 24-48 ชั่วโมง
** ในกรณีเด็กที่ประเมินแล้วอาการอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลาง ค่าคะแนนอยู่ในช่วง 4-7 คะแนน แพทย์จะให้พ่นยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพิ่มเติมจากยาสเตียรอยด์ และประเมินอาการที่โรงพยาบาลในช่วง 2-4 ชั่วโมง กรณีที่เด็กอาการดีขึ้นหรือค่าคะแนนลดลง ก็สามารถกลับบ้านได้ และนัดเพื่อติดตามอาการต่อไป
** ในเด็กที่มีอาการรุนแรงมากหรือในกลุ่มเด็กที่มีโอกาสเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ค่าคะแนนสูงมากกว่า 7 คะแนน เด็กต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะทำการดูแลอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากครูปสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการนัดเพื่อติดตามอาการในเด็กทุกรายหลังกลับบ้านภายใน 24-48 ชั่วโมง อาการของโรคมักหายภายในเวลา 3-7 วัน โดยส่วนใหญ่โรคครูปไม่ได้มีความรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงที่ทางเดินหายใจจะบวมจนส่งผลกระทบต่อการหายใจของผู้ป่วยได้เช่นกัน
โรคครูป...ป้องกันได้ด้วยวิธีนี้
- หลีกเลี่ยงพาเด็กไปที่ชุมชน สถานที่ที่มีคนแออัดหรือพลุกพล่าน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ห้างสรรพสินค้า ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับของเล่นหรือเครื่องเล่นสาธารณะ
- ใส่หน้ากากอนามัยกรณีคนในบ้านป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่เด็ก
- ในเด็กเล็กควรรับประทานน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก
- พาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ขอขอบคุณ : พญ.รุจิรา มงคลกุล(ลีลาสุขารมย์) ศูนย์ทางการแพทย์ :คลินิก เด็ก โรงพยาบาล พญาไท 2
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.phyathai.com/article_detail/3116/th