GETTY IMAGES 1
มิเชลล์ โรเบิร์ตส์
บรรณาธิการข่าวสุขภาพดิจิทัล
สหราชอาณาจักรเริ่มแผนการที่ท้าทายในการเร่งวิจัยวัคซีน mRNA ป้องกันโรคมะเร็ง กับไบโอเอ็นเทค (BioNTech) บริษัทยาของเยอรมนี
หลังจากประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด โดยใช้เทคโนโลยี mRNA หรือ เมสเซนเจอร์ ไรโบนิวคลีอิก แอซิด (messenger-ribonucleic-acid) นักวิทยาศาสตร์ต้องการใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ในการทดลองวัคซีนกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง
พวกเขาหวังว่า จะให้การรักษาที่มีความเฉพาะตัวชนิดนี้แก่คนไข้ราว 10,000 คน ได้ภายในปี 2030
อังกฤษเป็นชาติแรกที่ลงนามในความร่วมมือดังกล่าว
ไบโอเอ็นเทคอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งหลายชนิดกับหลายชาติ แต่ทางบริษัทระบุว่า สหราชอาณาจักรอยู่ในจุดที่เหมาะสม เพราะมีประวัติและโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์
เอิซเลม ทูเรชี (ขวา) และสามี ผู้ก่อตั้งไบโอเอ็นเทค บริษัทพัฒนาวัคซีนโควิด
คนไข้บางส่วนที่เข้าร่วมการทดลองจะเป็นคนไข้ที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน และได้รับการรักษาหายแล้ว และหวังว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขากลับมาเป็นมะเร็งอีก
ส่วนคนไข้คนอื่น ๆ คือ คนไข้ที่มีมะเร็งลุกลามและแพร่กระจาย โดยวัคซีนอาจช่วยลดการลุกลามและควบคุมมะเร็งได้
การรักษาแบบ mRNA ต่างจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งจะโจมตีเซลล์ต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงมะเร็ง แต่การรักษาแบบ mRNA จะเป็นการออกแบบมาเฉพาะบุคคล และนำรหัสพันธุกรรมจากมะเร็งที่เฉพาะเจาะจงมาใส่ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สามารถโจมตีเฉพาะเนื้องอกได้
การทำเช่นนี้ทำให้การรักษาแบบนี้มีราคาแพงขึ้น ไบโอเอ็นเทคระบุว่า ระบบสาธารณสุขจะรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ได้ แต่ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากในการชี้ว่า ค่าใช้จ่ายนี้มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service—NHS) ของสหราชอาณาจักรหรือไม่ การที่ต้องระมัดระวังเชิงพาณิชย์ ทำให้รายละเอียดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและไบโอเอ็นเทคยังไม่ได้รับการเปิดเผย
'โปสเตอร์ประกาศจับ'
ศ.เอิซเลม ทูเรชี ผู้ร่วมก่อตั้งไบโอเอ็นเทค กล่าวกับบีบีซี นิวส์ ว่า "สหราชอาณาจักรเป็นหุ้นส่วนที่ยอดเยี่ยมสำหรับความพยายามนี้"
"แนวคิดนี้คือ การใช้คุณลักษณะทางโมเลกุลที่เฉพาะเจาะจงในมะเร็งแต่ละเซลล์ของผู้ป่วย เพื่อนำไปเข้ารหัสในวัคซีน mRNA เพื่อฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตี"
เธอบอกว่า มันเหมือนกับการติดประกาศจับ หรือการให้เงินรางวัลนำจับ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมและต่อสู้
เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน คนไข้อาจจะต้องได้รับวัคซีนหลายโดสเพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา
สตีฟ บาร์เคลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า "ทันทีเมื่อมีการตรวจพบมะเร็ง เราต้องมั่นใจว่า สามารถใช้วิธีการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงมะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม"
"ไบโอเอ็นเทค ได้ช่วยเป็นผู้นำโลกในเรื่องวัคซีนโควิด-19 และพวกเขามีพันธสัญญาเหมือนกันกับเราในเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์"
"ความร่วมมือนี้จะทำให้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย. คนไข้ของเราจะเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ได้เข้าร่วมการทดลองและทดสอบในการรับการรักษาที่แม่นยำ มีความเฉพาะตัว และเจาะจง โดยการใช้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้ ในการรักษาทั้งมะเร็งที่เป็นอยู่และการป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง"
องค์กรวิจัยมะเร็งของสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ยินดีกับข่าวนี้ แต่ระบุว่า การวินิจฉัยและการรักษาที่ล่าช้า จะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่มขึ้น และอาจจะไม่สามารถหาเวลาที่ต้องใช้ในการจัดการทดลองทางการแพทย์ได้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็จะทำให้กระบวนการหาวิธีการรักษาใหม่เกิดความล่าช้าลงไปอีก"
ดร.เอียน ฟอล์กส์ โฆษกขององค์กรวิจัยมะเร็งของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า "วัคซีน mRNA เป็นหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่ออกมาในช่วงการระบาดใหญ่ และมีแววที่ชัดเจนว่า พวกมันอาจจะกลายเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างดี"
"การไปให้ถึงจุดนั้น จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก"
"เราได้เห็นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แล้วว่า หน่วยงานกำกับดูแลยอดเยี่ยมมากในการอนุมัติวัคซีนอย่างรวดเร็วในสหราชอาณาจักร"
"แล้วก็ยังมีขีดความสามารถในการวิเคราะห์จีโนม สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในชาติผู้นำในด้านนี้"
ขอขอบคุณ : มิเชลล์ โรเบิร์ตส์ บรรณาธิการข่าวสุขภาพดิจิทัล
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/international-64186372