"เคยเห็นตั้งมากตั้งมายที่เขาว่ากันว่าวิจัยเผยนู่นนี่ว่า ย้อมผมแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็ง วันนี้เราเลยอาสามาหาคำตอบให้ทุกคนเอง ว่าเสี่ยงจริงหรือจกตา!"
ตกลงว่าย้อมสีผมได้ไหม เสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือเปล่า?!
ถือว่าเป็นข่าวดีที่ทาง Harvard Medical School ได้ออกมายืนยัน นอนยัน นั่งยันแล้วว่า ย้อมสีผมบ่อย ๆ ไม่ได้เสี่ยงเป็นมะเร็งเหมือนที่ฝั่งบ้านเราชอบพูดถึงกันเป็นสิบ ๆ ปี แอบบอกว่าทางฝั่ง US และยุโรปเขาก็เถียงกันมาเนิ่นนานเป็นศตวรรษไม่ต่างกันกับเรา จนในที่สุดก็มีวิจัยชี้ชัดออกมาแล้วว่า "สีย้อมผมแบบถาวรนั้น ไม่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง" โดยงานวิจัยชิ้นนี้เขาทดลองในผู้หญิงมากกว่าถึง 117,200 คน และเก็บผลทดลองถึง 36 ปี เลยทีเดียว และทางฮาร์วาร์ดก็ได้สรุปออกมาแล้วว่า ถึงจะไม่มีความเสี่ยง แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการดูแลตัวเองที่ดี สวมถุงมือป้องกัน และไม่ใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนะทุกคน!
ขอบคุณข้อมูลจาก : Harvard Medical School
อย่างไรก็ดีถ้าเราจะย้อมผม ต้องคำนึงถึง...
ถึงแม้ว่าปัจจุบันไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่ายาย้อมสีผมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ในน้ำยาย้อมผมมีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้สารเคมีบริเวณผิวหนังได้ ฉะนั้น เราจึงควร...
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน มีวันหมดอายุ วิธีใช้ ส่วนผสม เลขที่จดแจ้งระบุไว้ชัดเจน
- ควรสวมใส่ถุงมือและใส่หน้ากากป้องกันสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนังและทางเดินหายใจ
- ควรอยู่ในที่ที่ระบายอากาศได้ดี ปลอดโปร่ง
ทีนี้มาดูส่วนผสมในน้ำยาย้อมผมกันสักหน่อย!
ถึงการย้อมผมบ่อย ๆ จะไม่ได้ทำให้เราเป็นมะเร็ง แต่ไม่ได้หมายความว่าในน้ำยาย้อมผมจะคลีน ปลอดภัย 100% นะทุกคน เพราะต้องอย่าลืมว่า สารเคมียังไงก็คือสารเคมี เราเลยจะมาดูฝั่งคุณหมอไทยสักหน่อยว่า เขาจะแตกกลุ่มส่วนผสมชัด ๆ ว่าในกล่องสีย้อมผมนั้น แต่ละตัวมีข้อด้อยยังไงบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อให้รู้ไว้ป้องกันและระวังนะทุกคน!
1. สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไชด์ : สารฟอกสีผมและฆ่าเชื้อโรค มีฤทธิ์ในการทำลายเส้นผม กัดสีผมและหนังศีรษะ ก่อให้เกิดอาการอักเสบและระคายเคืองต่อหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมแห้งเสียได้
2. สารฟีนิลินไดอะมีน หรือสีย้อมผมชนิดถาวร : เป็นสารเคมีอันตราย ถ้าซึมเข้าสู่หนังศีรษะแล้ว อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งหนังศีรษะได้
3. แอมโมเนีย : ตัวช่วยให้สีย้อมผมติดผม สามารถกัดเส้นผมและหนังศีรษะได้ ทำให้ผมเสีย ผมร่วง และทำให้รากผมอ่อนแอลง
4. สารซิลเวอร์ไนเตรต : ใช้ปกปิดผมขาว โดยตัวสารนี้เมื่ออยู่บนหนังศีรษะ จะทำปฏิกิริยากับอากาศแล้วเปลี่ยนให้เส้นผมกลายเป็นสีดำ มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดการระคายได้
5. สารเลดอะซีเตด : สารตะกั่วที่ใช้ในครีมปกปิดผมขาว หากสะสมในร่างกาย จะทำลายสมองและประสาทสัมผัสได้ ที่สำคัญสารนี้ยังจัดอยู่ในสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : Herbplus+, ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา
เลือกน้ำยาย้อมสีผมยังไงให้ปลอดภัย
1. เลือกที่ไม่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย
2. ทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยควรทดสอบการแพ้ก่อนย้อมผมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
3. เช็กความเข้มข้นของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ไม่ควรมีมากกว่า 6% อันนี้สาว ๆ ต้องขยันสังเกตนิดนึงน้า เพื่อประโยชน์ของตัวเราจ้า
4. ไม่ทำสีผมบ่อยจนเกินไป อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่คำว่าบ่อยเกินไปคือ อย่าบ่อยเบอร์ที่ว่าทำทุกอาทิตย์ ทำทุกสองอาทิตย์ เพราะอย่างที่บอกว่าสารเคมี is สารเคมี ยังไงเราต้องเว้นช่วงให้เส้นผมเรานิดนึง นอกนั้นจะทำสีผมบ่อยเบอร์เดียวกับไอดอลเกาหลีเราก็ไม่ติดจ้า
5. ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรเป็นหลัก เช่น เฮนน่าหรือเทียนกิ่ง ทางเลือกใหม่ของสายออร์แกนิก
6. ใช้สมุนไพรเป็นตัวช่วยในการล้างพิษจากสารเคมีหลังการทำสี
References :
- Harvard Health Publishing, Harvard Medical School, (2021) "Do hair dyes increase cancer risk?" เข้าถึงได้จาก https://www.health.harvard.edu/ สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564.
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา, (1990) "อันตรายของยาย้อมผม" เข้าถึงได้จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564.
- Herbplus+, (n.d.) "ย้อมสีผมบ่อย เสี่ยงโรคมะเร็ง" เข้าถึงได้จาก https://www.herbplus.co.th/ สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564.
ไม่ว่าจะมีวิจัยออกมารองรับหรือไม่ก็ตาม (ตอนนี้ยังมีอยู่นะทุกคน) แต่ด้วยวิธีที่รอบคอบและด้วยความพิถีพิถันใส่ใจในการเลือกน้ำยาย้อมผมที่เพิ่มขึ้นแบบนี้ เพียงแค่นี้เราก็จะไม่เข้าข่ายการเสี่ยงเป็นมะเร็งจากน้ำยาย้อมผมแน่นอน แถมยังสามารถมีสีผมตามเทรนด์ไม่ตกยุคกันได้เหมือนเดิมแล้วนะสาว ๆ สำหรับใครที่ย้อมผมบ่อย ๆ บ่อยมาก บ่อยจริง มาช่วยแนะนำ ช่วยแชร์แบรนด์น้ำยาย้อมผมที่นัมเบอร์วันในดวงใจกันหน่อย ตัวไหนใช้แล้วดี ใช้แล้วผมไม่พัง คอมเมนต์บอกกันด้านล่างในหน้าเพจเฟซบุ๊ก Wongnai Beauty ได้เลยจ้า!
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.wongnai.com/articles/hair-dyes-and-cancer