วันนี้ทางwww.medi.co.th เรามี 8 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุมาฝากกัน ดังนี้
1. ผิวหนังเหี่ยวย่น
เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ เกิดจากการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินบริเวณผิวหนังลดลง และมีปัจจัยกระตุ้นคือการใช้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าในการแสดงอารมณ์ การถูใบหน้าแรง ๆ เป็นประจำ การสัมผัสแสงแดด
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงแสงแดดหรือใช้ครีมกันแดดที่มี SPF ที่เพียงพอเมื่อจำเป็นต้องออกแดด
- หลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่ทำให้เกิดรอยย่น เช่น การขมวดคิ้ว การสูบบุหรี่ รวมถึงการถูบริเวณใบหน้าเป็นประจำ
- การใช้ครีมเพื่อป้องกันริ้วรอย หรือการฉีดสารประเภทโบทูลินัม ทอกซิน (โบท็อกซ์) เพื่อป้องกันริ้วรอย
วิธีรักษา
การใช้ครีมหรือโลชั่นอาจช่วยได้แต่เป็นส่วนน้อย อาจมีการฉีดสารเพื่อเติมเต็มร่องและริ้วรอยบริเวณใบหน้า การใช้แสงเลเซอร์ หรือการทำศัลยกรรมใบหน้า
2. อาการคันจากผิวแห้ง (Xeroderma)
เกิดจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อทำงานลดลง ผิวหนังจึงแห้ง ขาดน้ำ ทำให้เกิดขุยและอาการคัน พบมากในบริเวณขา แต่อาจพบที่มือหรือลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดเป็นภาวะผิวหนังแห้งและอักเสบ (Xerotic eczema) เกิดการแดง ลอก และคันมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเกาจนทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
วิธีป้องกัน
- ไม่อาบน้ำนานเกินไป ใช้น้ำอุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่อาบน้ำบ่อย และไม่ขัดถูผิวหนังแรง ๆ
- ใช้สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับผิวแห้ง
- ทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว หรือครีมที่มีส่วนผสมของยูเรีย (Urea cream)
- หากอากาศแห้งควรใช้เครื่องเพิ่มความชื้น
- หลีกเลี่ยงการเกาเนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลและติดเชื้อได้
วิธีรักษา
โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นหากผิวหนังได้รับความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอ แต่หากอาการคันยังมีอย่างต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคอื่น ๆ เช่น พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ การแพ้หรือผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้
3. ผื่นคันจากการแพ้ (Atopic dermatitis)
พบได้มากในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ผื่นคันจากการแพ้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี อาหารทะเล สัตว์เลี้ยง อุณหภูมิ หรือยาที่ใช้ประจำ ผื่นคันมักเป็นบริเวณข้อพับ เป็นผื่นแดง นูน และก่อให้เกิดอาการคันมาก
วิธีป้องกัน
- สังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการแพ้ หากไม่พบสาเหตุหรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำการทดสอบและรักษา โดยการค่อย ๆ ปรับเพิ่มการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการแพ้ (desensitization)
วิธีรักษา
หากเป็นในบริเวณไม่มาก สามารถรักษาด้วยการทายาสเตียรอยด์ได้ แต่หากเป็นในบริเวณกว้างการทายาสเตียรอยด์อาจไม่ครอบคลุม อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มยาแก้แพ้แต่ต้องระวังผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น ง่วงซึม การใช้ยาสเตียรอยด์แบบรับประทานควรใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการใช้เท่านั้น
4. ผิวหนังเปลี่ยนสี จุดด่างดำในผู้สูงอายุ (Senile lentigo หรือ Age spots)
เกิดจากการรวมตัวของเม็ดสีผิดปกติในผิวหนัง มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงเข้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยทั่วไปจะเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร โดยจะพบมากในผู้มีประวัติครอบครัวมีผิวหนังเปลี่ยนสีมาก่อน และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น คอ หน้า และหลังมือ
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมและแสงแดดเนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นโดยตรงของภาวะนี้
วิธีรักษา
โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายจึงไม่ต้องรักษา เว้นแต่เพื่อความสวยงาม แต่หากเส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาดใหญ่มาก มีการนูนผิดปกติ หรือมีความไม่สม่ำเสมอของสี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งผิวหนัง
5. สิวในผู้สูงอายุ (Senile comedone)
เป็นลักษณะสิวอุดตันหัวปิด เห็นเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ รวมตัวกัน หรือเป็นสิวหัวเปิดสีขาว โดยไม่ค่อยมีลักษณะการอักเสบ มักพบบริเวณตาและโหนกแก้มที่ถูกแสงแดดมาก
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ใช้ครีมกันแดดโดยเฉพาะชนิดที่ไม่มีน้ำมันเมื่อจำเป็นต้องออกแดด
วิธีรักษา
ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนวันละสองครั้ง อาจพบแพทย์เพื่อพิจารณาสั่งยาทาประเภท Retinoid อาจใช้การรักษาโดยการจี้แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
6. กระเนื้อ (Seborrhoeic keratoses)
มีลักษณะนูน กลมหรือรี สีเข้ม มักพบบริเวณใบหน้า อก คอ หลัง อาจมีอาการคันได้เล็กน้อย
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด
วิธีรักษา
โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายจึงไม่ต้องรักษา เว้นแต่เพื่อความสวยงาม โดยแพทย์จะรักษาด้วยเลเซอร์ CO2 หรือความเย็นจี้ อย่างไรก็ตาม กระเนื้ออาจมีขนาดใหญ่และแยกออกยากจากมะเร็งผิวหนัง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและแยกโรค
7. แผลและการติดเชื้อ
เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีผิวหนังที่บางและเปราะ ฉีกขาดง่าย จึงเกิดแผลได้ง่าย และเมื่อมีแผลก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง
การป้องกัน
- ระวังกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดแผล หลีกเลี่ยงการจับ ถู กระแทกผิวหนังแรง ๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่นุ่มปกคลุมผิวหนังเพื่อป้องกันการเกิดแผล
การรักษา
หากมีแผลควรทำความสะอาดแผลให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อ อาจไปพบแพทย์เพื่อรักษาและพิจารณาสั่งยาฆ่าเชื้อ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อช่วยในการหายของแผล
8. มะเร็งผิวหนัง
พบได้หลายชนิด สัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และการถูกแสงแดด
วิธีการดูแลผิวหนังสำหรับผู้สูงวัย
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการดูแลผิว โดยเลือกชนิดที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม และมีความชุ่มชื้น เช่น ครีม Sixtysense
- อาบน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นพอดี
- เว้นการขัดถูอย่างรุนแรงที่บริเวณผิวหนัง
- เช็ดตัวแค่พอหมาดก่อนใช้มอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิว
- ใช้เครื่องสร้างความชื้น (humidifier) เมื่ออากาศแห้ง
- ใส่ถุงมือ หมวก เสื้อแขนยาว โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ปกคลุมผิวและทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 เป็นอย่างน้อย เมื่อจำเป็นต้องออกแดดหรือตากแดดนาน ๆ ควรหาที่ร่มและไม่ออกแดดในเวลาแดดจัด เช่น 10.00-14.00 น.
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หมั่นตรวจสอบผิวหนังของตนเองสม่ำเสมอ หากมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์
- หากมีความกังวลเกี่ยวกับผิวหนัง ริ้วรอย จุดหรือรอยดำ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การยกกระชับ การทำเลเซอร์เพื่อความกระจ่างใสและลดรอยดำ ลดริ้วรอยต่าง ๆ ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/common-skin-conditions-elderly