ผึ้งต่อย
ผึ้งต่อย ( Bee Sting ) คือ อาการที่ผู้ป่วยถูกผึ้งซึ่งเป็นแมลงที่มีเหล็กในต่อย หรืออาจฝังเหล็กในลงบนผิวหนัง คล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่ถูกต่อย หากมีอาการแพ้ผึ้งต่อยจะเป็นตุ่มบวมขึ้น โดยมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลาง ซึ่งอาการผึ้งต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น และค่อย ๆ หายไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการรุนแรงเนื่องจากแพ้พิษผึ้ง เพราะเหล็กในเป็นโปรตีนที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ บริเวณที่ถูกผึ้งต่อย ส่วนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แพ้เหล็กในของผึ้ง พิษจากเหล็กในจะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อถูกผึ้งต่อยเราควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธีที่เหมาะสม พร้อมทั้งสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของอาการแพ้ เพื่อหาทางรักษาและไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที
อาการผึ้งต่อยทั่วไป
1. รู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่โดนต่อย
2. เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา ซึ่งมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลางและมีผิวหนังสีขาวอยู่โดยรอบ
3. ตุ่มบวมแดงอย่างเห็นได้ชัด
4. บริเวณที่โดนผึ้งต่อยขยายบวมโตขึ้นในวันถัดมา
อาการแพ้ผึ้งต่อยจากพิษเหล็กในอย่างรุนแรง
- อาการปวด บวม แดง คัน ไม่ยุบภายใน 6 ชั่วโมง
- ผิวหนังมีผดผื่นคันสีแดง หรือผิวซีดขาว
- อ่อนเพลีย หมดแรง มีไข้
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หรือหายใจมีเสียงหวีด
- เสียงแหบ พูดจาติดขัด
- ลิ้นบวม คอบวม
- หัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็ว
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ไม่รู้สึกตัว หมดสติ
- กระวนกระวาย
- มีอาการชัก
สาเหตุผึ้งต่อย
สาเหตุที่ผึ้งจะต่อยนั้นเกิดจากการที่ผึ้งป้องกันตัวจากการรบกวนของมนุษย์ และหลังจากปล่อยเหล็กในแล้ว ผึ้งบางชนิดก็จะตาย โดยในการต่อยแต่ละครั้ง ผึ้งอาจปล่อยเหล็กในฝังอยู่ในผิวหนังของมนุษย์ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่แพ้เหล็กในของผึ้ง พิษจากเหล็กในจะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้ที่มีความเสี่ยงโดนผึ้งต่อย
- ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีผึ้งทำรังอยู่ หรือไปอยู่ใกล้ ๆ รังผึ้ง
- ผู้ที่อยู่นอกบ้าน หรือทำงานนอกสถานที่ ไม่ได้อยู่ในที่พักอาศัยที่ปิดมิดชิด
ผู้มีความเสี่ยงเกิดอาการอย่างรุนแรงจากผึ้งต่อย
- ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แพ้เหล็กในของผึ้ง
- ผู้ที่ถูกผึ้งต่อยหลาย ๆ จุดในร่างกาย
การวินิจฉัยอาการผึ้งต่อย
เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์หลังถูกผึ้งต่อย นอกจากการตรวจร่างกายเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยแล้ว หากแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ทดสอบผิวหนัง แพทย์อาจใช้ชุดทดสอบภูมิแพ้ ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสารพิษจากผึ้งไปบนผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลังด้านบนเพียงเล็กน้อย แล้วรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนั้น วิธีการนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง แต่ผู้ที่แพ้ต่อสารจริง จะปรากฏเป็นตุ่มนูนขึ้นมา
2. ตรวจเลือด แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือดที่เพิ่มขึ้นในการต้านพิษจากเหล็กในผึ้ง
ผึ้งต่อยทําไงให้หายบวม การรักษาผึ้งต่อยในผู้ที่ไม่มีอาการแพ้รุนแรงมาก เบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้
1. หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด ผู้ป่วยควรพยายามบีบผิวโดยรอบเพื่อดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด
2. ล้างทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด
3. ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางประคบบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย
4. หากถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น หรือวางแขนขาไว้บนระดับที่สูงกว่าปกติ
5. หากสวมใส่เครื่องประดับอยู่ ให้ถอดเครื่องประดับออก เพราะอาจเกิดอาการบวมจนยากต่อการถอดเครื่องประดับในภายหลัง
6. ไม่เกาบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
7. บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอสไพริน ( ห้ามใช้แอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี เด็ดขาด )
8. ทายาไฮโดรคอร์ติโซน ( Hydrocortisone ) คาลาไมน์ ( Calamine ) ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเปล่า หรือรับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ( Diphenhydramine ) หรือ คลอร์เฟนิรามีน ( Chlorpheniramine ) เพื่อรักษาอาการที่เกิดบนผิวหนัง ลดอาการบวมแดงและอาการคัน
9. ผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที
การรักษาอาการผึ้งต่อยสำหรับผู้ที่แพ้พิษเหล็กในรุนแรง
1. แพทย์จะให้ยาหรือฉีดยาต้านฮิสตามีน ( Antihistamine ) และคอร์ติโซน ( Cortisone ) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และอาการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ลดภาวะหลอดลมตีบ หรือมีเสมหะในทางเดินหายใจจากฮิสตามีน
2. ฉีดเอพิเนฟรีน โดยเฉพาะในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง ( Anaphylaxis ) เพื่อรักษาและลดการเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย
3. พ่นยาขยายหลอดลม ( Beta agonist ) เช่น อัลบูเทอรอล เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบจากปัญหาการหายใจ
4. แพทย์อาจให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรงจากอาการแพ้
5. ทำซีพีอาร์ หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต ( Cardiopulmonary Resuscitation: CPR ) ในผู้ป่วยที่หยุดหายใจ
6. แพทย์อาจฉีดสารภูมิคุ้มกันบำบัดให้ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาฉีดเรื่อย ๆ ทุก 2-3 ปี เพื่อรักษาและลดปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษจากเหล็กในผึ้ง
การป้องกันการโดนผึ้งต่อย
1. กำจัดขยะและเศษอาหารบริเวณบ้านเพื่อไม่ให้มีแมลงพวกนี้มาตอม
2. กรณีต้องเดินทางเข้าไปในที่ที่มีแมลงพวกนี้ชุกชุมหรือออกไปกลางแจ้ง ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ลายดอกไม้ หรือใส่น้ำหอม ซึ่งล่อให้ผึ้งมาต่อยได้
3. อย่าแหย่หรือทำลายรังผึ้ง และเตือนเด็ก ๆ อย่าไปแหย่รังผึ้งด้วยความคะนอง
4. ถ้ามีรังผึ้งภายในบริเวณบ้าน ควรตามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากำจัดรังแทน
5. สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกผึ้งต่อย (เช่น พนักงานป่าไม้ นักเดินป่า ลูกเสือเวลาออกค่าย เป็นต้น) ควรมีชุดปฐมพยาบาล (เช่น ยาฉีด adrenalin ยาแก้แพ้ ครีม steroid )ไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกผึ้งต่อย
6. ถ้าถูกผึ้งต่อย ควรวิ่งหนีโดยเร็วที่สุด ให้ห่างจากรังเกิน 7 เมตรขึ้นไป และควรใช้ผ้าคลุมศีรษะป้องกันไม่ให้ตัวผึ้งไปติดอยู่ในผมซึ่งจะต่อยซ้ำ ๆ ได้
ทีนี้เพื่อน ๆ คงจะพอทราบวิธีรักษาบรรเทาอาการจากการโดนผึ้งต่อยว่าควรทำอย่างไร และควรอยู่ห่างจากผึ้ง เพราะผึ้งเป็นแมลงอันตรายที่ควรอยู่ให้ห่างไว้จะดีที่สุด
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://amprohealth.com/