อาการเจ็บอกเป็นอาการที่พ่อแม่มักจะไม่เข้าใจและมักกลัวว่าลูกอาจมีอันตรายถึงชีวิตเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่เจ็บอก แม้ว่าอาการเจ็บอกจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่สาเหตุที่เกิดจากโรคหัวใจเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง?
ส่วนใหญ่แล้าสาเหตุมักจะไม่ร้ายแรงอะไร อาการเจ็บอกที่พบบ่อยมักมาจากระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก และระบบหายใจ ส่วนระบบลำไส้และจากจิตใจพบได้น้อยกว่า
สาเหตุที่พบบ่อยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic เช่น precordial catch syndrome), กล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูก (musculoskeletal), ไอมาก, การอักเสบที่รอยต่อของกระดูกอ่อนและกระดูกซี่โครง (costo-chondritis), หอบหืด (asthma), บาดเจ็บที่ทรวงอก (trauma), ปอดอักเสบ(pneumonia), จากจิตใจ เช่น ความกังวล เครียด (psychogenic origin), กระเพาะอาหารและลำไส้ (GI disorders) เช่น กรดไหลย้อน, โรคหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบมาก กล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Cardiac diseases: aortic stenosis, anomalous coronary artery, hypertrophic cardiomyopathy, pericarditis, arrhythmias)
อาการอย่างไรที่บ่งบอกว่าเด็กอาจต้องการการตรวจเพิ่มเติม?
หากอาการเจ็บอกนั้นเป็นมากจนทำให้เด็กต้องตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน เป็นอย่างกะทันหัน พบร่วมกับไข้ ไอ หอบเหนื่อย หรือความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ เช่น เกิดเมื่อออกกำลังกาย ใจสั่นหรือหน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย ผู้ปกครองควรจะพาเด็กไปพบแพทย์ แต่หากอาการเป็นมานานกว่า 6 เดือนแล้ว และโดยทั่วไปเด็กสบายดีไม่มีความผิดปกติอย่างอื่น มักจะไม่มีอะไรร้ายแรง การดูแลก็เพียงให้เด็กพักหรือรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลแล้วสังเกตอาการ อย่างไรก็ตาม หากประเมินไม่เป็นหรือไม่แน่ใจก็ควรไปพบแพทย์
สำหรับแพทย์ทั่วไปหากมีอาการเหล่านี้ควรส่งผู้ป่วยต่อไปยังกุมารแพทย์โรคหัวใจ
1. เจ็บอกเมื่อออกกำลัง
2. มีใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
3. หัวใจเต้นผิดจังหวะ (rhythm disturbances)
4. มีประวัติผ่าตัดหัวใจมาก่อน
5. มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตกะทันหัน หรือ hypertrophic cardiomyopathy
6. เคยเป็นโรคคาวาซากิ Marfan syndrome หรือลิ้นหัวใจตีบ (aortic stenosis)
ขอขอบคุณ : รศ. พญ. ยุพดา พงษ์พรต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://w1.med.cmu.ac.th/