www.medi.co.th
ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนสำคัญๆ ให้ร่างกายมากมาย แล้วจะเป็นอย่างไร? ถ้าวันหนึ่งต่อมใต้สมองทำงานไม่ได้หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นมา.. ใครที่ยังไม่รู้จักโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง หมอจะอธิบายให้ฟัง!…
- เนื้องอกต่อมใต้สมองพบได้ประมาณ 10% ของเนื้องอกสมองทั้งหมด
- ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง
- แม้จะมีขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วลันเตา และอยู่ในแอ่งกระดูกเล็กๆ ที่ฐานสมอง แต่ก็มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ มากมาย
- เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้น หากมีขนาดเล็กและไม่รบกวนหน้าที่ปกติของต่อมใต้สมอง อาจจะไม่มีอาการแสดงอะไรเลย ตรวจพบจากการทำ MRI สมอง เพื่อตรวจหาเรื่องอื่นและเจอโดยบังเอิญ
- ถ้ามีขนาดใหญ่หรือก่อให้เกิดความผิดปกติในการทำหน้าที่ จะทำให้มีอาการต่างๆ ตามมาได้ ดังนี้
- สร้างฮอร์โมนมากไปหรือน้อยไป ส่งผลให้อวัยวะเป้าหมายทำงานผิดปกติ เช่น รอบเดือนไม่มา หรือมาผิดปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีน้ำนมไหลแม้ไม่ได้ตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยและมาก
- เนื้องอกไปกดเบียดจุดตัดเส้นประสาทตา อาจทำให้มีอาการตามัวมองไม่ชัด
- เนื้องอกขยายตัวเร็วหรือมีเลือดออกภายในจนไปกดเบียดโครงสร้างอื่นๆ ในสมอง อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรงได้
- ผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองมีอาการแสดงต่างกัน จึงต้องมีแพทย์สหสาขาร่วมวินิจฉัยและดูแล
- อายุรแพทย์ระบบประสาท จะตรวจประเมินความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง
- อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ ประเมินดูระดับฮอร์โมน ความผิดปกติ เพื่อให้การดูแลรักษาทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
- จักษุแพทย์ ตรวจดูความผิดปกติของการมองเห็น ให้การดูแลและตรวจติดตามหลังการรักษา
- รังสีแพทย์ระบบประสาทและสมอง จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง MRI ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูขนาดและลักษณะของเนื้องอก ผลกระทบต่อโครงสร้างข้างเคียง เพื่อร่วมวางแผนการรักษากับทีมแพทย์ต่อไป
- ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศัลยแพทย์หูคอจมูก จะทำงานร่วมกันในการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเข้าถึงตำแหน่งของเนื้องอกได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ร่วมกับการใช้ภาพ MRI ที่เชื่อมต่อกับระบบนำวิถี (Neuronavigator Surgery) เพื่อการผ่าตัดและสลายเนื้องอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำได้อย่างแม่นยำ บอบช้ำน้อย โดยยังคงรักษาเนื้อสมองส่วนที่ดีเอาไว้ได้มากที่สุด
ที่มา: โรงพยาบาลรามคำแหง