การปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่บ้านหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

1.แพทย์จะมี Home med กลับไปรับประทานที่บ้าน ขอให้รับประทานตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ที่ระบุหน้าซองยา


2.หมั่นบริหารกล้ามเนื้อและข้ออย่างสม่ำเสมอ


3.ดูแลไม่ให้แผลผ่าตัดเปียกน้ำ ไม่เปิดแผลผ่าตัด เมื่อครบ 10-14 วัน แพทย์จะนัดเปิดแผลและสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ


4.ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กหรือวิตามินซีสูง เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพื่อช่วยบำรุงกระดูก บำรุงเลือด ได้แก่ นม โยเกิร์ต เต้าหู้ ปลาตัวเล็ก ส้ม ผักใบเขียว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด ขนมหวาน และผลไม้ที่มีรสหวานจัด


5.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน จะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเทียม


6.ระวังการหกล้ม เนื่องจากกล้ามเนื้อข้อเข่ายังไม่แข็งแรง ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ( walker frame ) จนกว่าจะเดินได้เอง ส่วนใหญ่สามารถเดินได้เองใน 1 เดือน หรืออาจจะใช้ไม้เท้าช่วยเดิน โดยถือไม้เท้าตรงข้ามกับขาข้างที่ผ่าตัด ก้าวเท้าข้างที่ผ่าตัดออกไปพร้อมกับแขนด้านที่ถือไม่เท้า


7.หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือหมุนตัวที่เร็วเกินไปเพราะอาจจะทำให้ล้มได้


8.หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ผลักของหนัก หรือการรับน้ำหนักที่มากเกินไป


9.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทก ปะทะ หรือกระโดด เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล สามารถเดินเล่น วิ่งเหยาะ ๆ ตีกอล์ฟ ปั่นจักรยานระยะสั้น และเต้นรำได้


10.หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงบันไดที่สูงชัน การขึ้น-ลงบันไดทำได้เมื่อกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงและยืดหยุ่นดี หรือเมื่องอเข่าได้มากกว่า 90 องศา การขึ้นบันไดควรใช้ขาข้างที่ดีก้าวขึ้นก่อน ส่วนการลงบันไดควรก้าวขาข้างที่ผ่าตัดลงก่อน


11.การขับรถยนต์สามารถเริ่มทำได้หลังผ่าตัด 6-8 สัปดาห์  หากผ่าตัดเข่าข้างซ้ายและรถเป็นเกียร์อัตโนมัติ จะขับรถได้เร็วกว่ากำหนด ควรปรึกษาแพทย์


12.หากจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดส่วนอื่นของร่างกายหรือทำฟัน ให้แจ้งแพทย์/ทันตแพทย์ว่าได้รับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อของข้อเข่าเทียม


13.สังเกตอาการผิดปกติที่ต้องพบแพทย์ทันที ได้แก่ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณแผลผ่าตัด ปวดบริเวณน่อง ขา รวมถึงข้อเท้า ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลจากแผลผ่าตัด ไข้สูง หนาวสั่น ข้อเข่าบวม เดินไม่สะดวก ข้อเข่าผิดรูปไปจากปกติ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกอย่างแรง และเจ็บเฉพาะตำแหน่งเวลาไอ แสดงถึงลิ่มเลือดอุดตันในปอด


14.อาจมีอาการออกร้อนและชาเข่าข้างที่ผ่าตัดประมาณ 4-6 เดือน ( แต่ต้องไม่มีไข้หรือปวดจนพักไม่ได้ เพราะเป็นอาการของการติดเชื้อ )


15.มารับการตรวจตามแพทย์นัด หากมีอาการผิดปกติให้มาตรวจก่อนกำหนดได้


16.หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาเพื่อตรวจดูสภาพและการทำงานของข้อเข่า ตลอดจนพิสัยการงอ-เหยียดของข้อเข่า ช่วงแรกแพทย์จะนัด 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูแผล และนัดต่อไปทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุก 1 ปี และถ่ายภาพรังสีปีละครั้ง เพื่อดูการสึกของแผ่นรองข้อเทียมและการหลวมของข้อเทียม


17.การมีเพศสัมพันธ์ไม่มีข้อจำกัด แต่ไม่ควรใช้ท่าที่งอเข่ามาก


18.กรณีต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ควรเดินทางหลังผ่าตัด 7 วันขึ้นไป พร้อมแจ้งพนักงานหากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น รถเข็น และควรเลือกเป็นที่นั่ง Long leg


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://rph.co.th/8160/