ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ จะทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก หนึ่งในความเชื่อผิดๆ รวมถึงอีก 10 ความเชื่อเหล่านี้...ที่สาวๆ ควรต้องรีบเปลี่ยนความคิดด่วนมีประจำเดือนห้ามกินของเย็น ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ จะทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก และอีกสารพัดความเชื่อของผู้หญิงเกี่ยวกับการมีประจำเดือนที่ถูกส่งต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น ทั้งที่จริงๆ แล้วบางความเชื่อก็เป็นเพียงความเข้าใจผิดที่คิดกันไปเอง
1. เพราะประจำเดือนคือ “เลือดเสีย” ยิ่งมามาก...ก็เท่ากับได้ขับของเสียมาก
ความเข้าใจที่ผิดอันแรกเลยก็คือ ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย! แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาพร้อมเลือดเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า การมีประจำเดือนจึงไม่ใช่การขับของเสียออกจากร่างกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และประจำเดือนมามาก... ก็ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะผิดปกติได้อีกด้วย
2. ห้ามกิน! น้ำมะพร้าว เพราะจะทำให้ประจำเดือนหยุดไหล
คนโบราณเชื่อกันว่าการดื่มน้ำมะพร้าวช่วงมีประจำเดือนจะทำให้ประจำเดือนหยุดไหล และทำให้ประจำเดือนในเดือนถัดไปมาช้ากว่าปกติ ซึ่งเกิดจากสารอาหารในน้ำมะพร้าวนั้นเป็นแบบเดียวกันกับฮอรโมนเพศหญิง แต่ด้วยการตอบสนองต่อร่างกายที่แตกต่างกัน บวกกับปริมาณน้ำมะพร้าวที่ดื่มเข้าไป ทำให้ “ไม่ใช่ทุกคน” ที่ดื่มน้ำมะพร้าวแล้วประจำเดือนจะหยุดไหล
3. ไม่ควรออกกำลังกายช่วงมีประจำเดือน
สาวๆ มักเชื่อว่า ไม่ควรออกกำลังกายในระหว่างมีประจำเดือน เพราะร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนเพลียอาจเสี่ยงเป็นลมได้ ซึ่งความจริงแล้ว แม้มีประจำเดือนก็สามารถออกกำลังกายได้ เพราะสารเอนดอร์ฟินที่หลั่งออกมาไม่เพียงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยเลือกเป็นกิจกรรมเบาๆ อย่าง โยคะ หรือ ว่ายน้ำ เพียงแต่ต้องดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
4. มีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนสิ...ไม่ท้อง!
มีคู่รักหลายๆ คู่เชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนจะช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งความจริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เพราะการมีเลือดไหลซึมออกมาวันแรกๆ อาจไม่ใช่เลือดจากประจำเดือน แต่บางคนอาจมีเลือดซึมออกมาในช่วงไข่ตก... หากไม่สวมถุงยางอนามัยก็อาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ในวันท้ายๆ ของการมีประจำเดือน เพราะอสุจิผู้ชายสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดหลังจากการหลั่งได้ถึง 72 ชั่วโมง
5. กินของเย็น จะทำให้ประจำเดือนออกมาเป็นลิ่มเลือด
จริงอยู่ที่ภูมิคุ้มกันของผู้หญิงจะลดลงในระหว่างที่มีประจำเดือน การทานของเย็นหรือดื่มน้ำเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน แต่! ไม่เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่ากินของเย็นแล้วประจำเดือนจะเป็นลิ่มเลือด ไหลออกมาไม่หมด หรือทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
6. ถ้าประจำเดือนมาไม่ปกติ ต้องกินยาขับเลือด
เพราะความเข้าใจผิดที่ว่าประจำเดือนคือเลือดเสีย ทำให้เมื่อประจำเดือนขาด... ก็เข้าใจว่าต้องกินยาขับเลือดเพื่อให้ของเสียถูกขับออกมา ซึ่งการที่ประจำเดือนไม่มาหรือมาๆ ขาดๆ อาจเกิดจากการมีโรคทางนรีเวชซ่อนอยู่ และการกินยาขับเลือดอาจส่งผลรุนแรงหากผู้ป่วยมีโรคบางโรคแฝงอยู่ เช่น เนื้องอกมดลูก หรือช็อกโกแลตซีสต์
7. มีประจำเดือนห้ามอาบน้ำเย็น เพราะจะทำให้เป็นไข้ไม่สบาย
คนโบราณมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ช่วงระหว่างมีประจำเดือนฮอร์โมนในร่างกายจะแปรปรวน การอาบน้ำเย็นจึงอาจส่งผลให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน มีไข้หรือเจ็บป่วยได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างมีประจำเดือนสามารถอาบน้ำเย็นในอุณหภูมิปกติได้เหมือนเดิม
8. ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย ทำให้เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
สาวๆ ที่ประจำเดือนมาค่อนข้างเยอะ อาจเปลี่ยนผ้าอนามัยใหม่อยู่บ่อยครั้งในแต่ละวัน แต่สำหรับคนที่ประจำเดือนมาน้อย...จนเรียกว่าผ่านไปกว่าครึ่งวันถึงเปลี่ยนผ้าอนามัยสักครั้ง ทำให้มีความเชื่อว่า พฤติกรรมไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัยอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งความจริงแล้ว สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส hpv ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง แต่การใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดิมนานหลายชั่วโมงเกินไป อาจส่งผลในเรื่องความสะอาดของจุดซ่อนเร้นมากกว่า
9. ประจำเดือนจะหยุดไหลเมื่อเราอยู่ในน้ำ
แม้ว่าอยู่ในช่วงมีประจำเดือน แต่บางคนก็ยังคงลงว่ายน้ำในสระหรือทะเลเหมือนปกติ เพราะเข้าใจว่าพออยู่ในน้ำประจำเดือนก็จะหยุดไหลไปเอง ซึ่งการหยุดไหลของประจำเดือนนั้นเป็นเพียงแค่ระยะชั่วคราวเท่านั้น ที่สำคัญ! การลงเล่นน้ำในช่วงมีประจำเดือน ยังอาจเสี่ยงต่อการที่สิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำจะไหลผ่านเข้าไปในช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้
10. การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจะทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาด
หนึ่งในความเชื่อของสาวๆ ที่ยังเวอร์จิ้น ก็คือ ความเข้าใจที่ว่า การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจะทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาด ซึ่งไม่เป็นความจริง! เพราะเยื่อพรหมจรรย์เป็นเยื่อบางๆ ที่สามารถยืดหยุ่นได้ และมีรูให้ประจำเดือนไหลผ่านเข้าออก ซึ่งขนาดของรูก็กว้างพอสำหรับผ้าอนามัยแบบสอดอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล