ภาวะก่อนเบาหวานเรื่องต้องรู้
เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ระดับปกติแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนมีภาวะก่อนเบาหวาน หากไม่รับการรักษามีโอกาสเป็นเบาหวาน 5-10% ต่อปี
การวินิจฉัยผู้มีภาวะก่อนเบาหวานใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง ได้แก่
1. ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ อยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล.
2. มีความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง ระดับน้ำตาลหลังดื่มน้ำตาล 75 กรัม อยู่ระหว่าง 140-200 มก./ดล.
3. ความผิดปกติของระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) อยู่ระหว่าง 5.7-6.4%
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือภาวะหรือโรคที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาล
* อายุ 35 ปี ขึ้นไป
* ภาวะอ้วน และมีประวัติ พ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นเบาหวาน (ภาวะอ้วน คือ ดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก. ต่อ ตรม. และ/หรือ รอบเอวมากกว่า 90 ซม. ในเพศชาย รอบเอวมากกว่า 80 ซม. ในเพศหญิง หรือ รอบเอวมากกว่าส่วนสูงหารด้วยสอง)
* ป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือกำลังรับประทานยาคุมความดันโลหิต
* มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ระดับไตรกลีเซอไรด์ > 250 มก./ดล. และ/หรือ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (HDL) < 35 มก./ดล.
* มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเคยคลอดบุตรที่น้ำหนักเกิน 4 กก.
* มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
* ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
* ผู้ที่เป็น HIV/AIDS
อาการของภาวะก่อนเบาหวานมีอะไรบ้าง
ภาวะก่อนเบาหวานส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่เราสามารถพบอาการเหล่านี้ได้
* กระหายน้ำมากขึ้น
* ปัสสาวะบ่อย
* หิวบ่อย
* อ่อนเพลีย
* มองภาพไม่ชัด
ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งลดโอกาสเป็นเบาหวาน
การรักษาภาวะก่อนเบาหวานที่ดีที่สุด คือ การตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ และรีบให้การรักษาด้วยวิธีการ
* ควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
* ตั้งเป้าลดน้ำหนักตัวให้ได้ร้อยละ 5-10%
* ออกกำลังกาย
สำหรับการใช้ยารักษาภาวะก่อนเบาหวาน แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล ส่วนใหญ่จะพิจารณาใช้ยาในรายที่มีความเสี่ยงสูง และมีค่าระดับน้ำตาลหรือน้ำหนักตัวไม่ลดลง
ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์