รู้ไหมว่าการปวดหัวบ่อยๆ อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงอย่างเนื้องอกในสมอง หรือ Brain Tumor ได้
เนื้องอกในสมองคืออะไร?
เนื้องอกในสมอง คือ การที่มีเนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติในเซลล์สมอง หรือบริเวณใกล้เคียงสมอง จนกระทบต่อระบบการทำงานของระบบสมอง และประสาท ทำให้เกิดอาการต่างๆ กับร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพไม่ชัด มีปัญหาด้านการพูด เคลื่อนไหว อาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการชัก หรือเป็นอัมพาต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะก้อนเนื้องอกไปเบียด และกระทบต่อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ซึ่งสาเหตุการเกิดเนื้องอกในสมองยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง กรรมพันธุ์ อายุ หรือพฤติกรรมบางอย่างก็ได้
ความรุนแรงของโรคเนื้องอกในสมอง แบ่งได้เป็น 4 ระดับ
ระดับที่ 1 : เนื้องอกที่เป็นก้อนเนื้อธรรมดา เติบโตช้า และยังไม่มีการแพร่กระจาย สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาจไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
ระดับที่ 2 : เนื้องอกระดับปานกลาง แพร่กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อในสมอง แต่ไม่เป็นเนื้อร้าย รักษาได้แต่ไม่หายขาด แต่อาจอยู่ได้นานหลายปีเพราะเจริญเติบโตช้า
ระดับที่ 3 : เป็นก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งอาจพัฒนามาจากก้อนเนื้องอกธรรมดาที่ขึ้นบริเวณสมอง หรืออาจลุกลามมาจากเซลล์มะเร็งในอวัยวะอื่นของร่างกาย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ระดับที่ 4 : เป็นมะเร็งสมองชนิดร้ายแรง เนื้องอกเจริญเติบโต และแพร่กระจายเร็ว ทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น
อาการโรคเนื้องอกในสมองที่สังเกตได้
• มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือปวดหัวเรื้อรัง และอาจปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
• คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม
• มีปัญหาในการพูด สื่อสาร พูดจาติดขัด
• เห็นภาพเบลอ
หรือภาพซ้อน
• มีปัญหาในการได้ยิน
• มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การทรงตัว
• แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
• มีปัญหาด้านความจำ
• สับสบ มึนงง
• มีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคเนื้องอกในสมอง
เมื่อมีอาการดังกล่าวที่สงสัยว่าอาจเกิดมีเนื้องอกในสมอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และหากสงสัยว่าอาจมีเนื้องอกในสมอง แพทย์จะทำการตรวจสมองด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อถ่ายภาพรังสีให้เห็นสมองในบริเวณต่างๆ อย่างละเอียด หากพบว่ามีเนื้องงอกในสมอง หรือเนื้อเยื่อผิดปกติ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด รุนแรงระดับไหน เพื่อวางแผนทำการรักษาต่อไป
การรักษาโรคเนื้องอกในสมองทำได้ดังนี้
1. การผ่าตัด ในกรณีที่มีเนื้องอกในสมองระดับที่ไม่รุนแรง ไม่เป็นเนื้อร้าย ไม่แพร่กระจาย และหากก้อนเนื้อในสมองนั้นอยู่ในบริเวณที่ง่ายต่อการผ่าตัด ไม่กระทบต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง แพทย์จะสามารถทำการผ่าตัดทั้งผ่าเปิดกระโหลก และผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อผิดปกตินั้นๆ ออกได้จนหมด
2. การฉายแสง (Radiation Therapy) หากไม่สามารผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ หรือผ่าตัดแล้วแต่ไม่สามารถเอาก้อนเนื้อออกหมด หรือเป็นก้อนเนื้อร้ายที่เป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้วิธีฉายแสงโดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้นๆ
3. การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) อาจทำหลังจากได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกไปแล้วบางส่วน หรือไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ การใช้ยาเคมีบำบัดรักษาเป็นการให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้ยาในรูปแบบใด อาจมีทั้งยารับประทาน และยาฉีดเข้าเส้นเลือด
เนื้องอกในสมอง รักษาหายไหม?
เนื้องอกในสมองมีความรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง รักษาให้หายขาดได้ยาก และเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น การรักษาเนื้องอกในสมองจึงเป็นที่เข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นแล้วจะต้องเสียค่ารักษาอย่างมากมายมหาศาล แต่ในความเป็นจริงหากเป็นเนื้องอกในสมองระดับต้นๆ หรือรีบไปตรวจวินิจฉัยแต่แรกตั้งแต่มีอาการน่าสงสัย เช่น มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ ปวดหัวเรื้องรัง ตาพร่า มองไม่ชัด ตรวจพบก้อนเนื้องอกในสมองตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลที่รักษาโรคเนื้องอกในสมองได้ ดังนั้น การสังเกตความผิดปกติของร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจเจาะลึกสมอง หากมีความผิดปกติตั้งแต่ระยะต้นๆ จะสามารถรักษาได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ
ป้องกันไม่ได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
ถึงแม้โรคเนื้องอกในสมองจะไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด และไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ เช่น การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ทำร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ป้องกันไม่ให้ตนเองเครียดจนเกิดไป เพื่อลดการหลั่งสารเคมีที่ไม่ดีในร่างกาย เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวโรคเนื้องอกในสมองเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน