ปัญหาหูเสื่อมตามวัยในผู้สูงอายุ​ ไม่ควรถูกมองข้าม

www.medi.co.th


ภาวะหูตึงในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เนื่องจากประสาทรับเสียงในหูเสื่อมตามวัย โดยอาการเริ่มแรกของภาวะหูตึง คือ ผู้สูงอายุจะไม่ค่อยได้ยินเสียงแหลมๆ หรือเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงผู้หญิง เสียงดนตรีคีย์สูงๆ หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งมีเสียงรบกวนก็อาจฟังไม่เข้าใจ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ และเพิ่มมากขึ้น โดยผู้สูงอายุเองมักจะไม่รู้ตัว จนกลายเป็นปัญหาในการสื่อสารและการใช้ชีวิตประจำวัน



อาการที่สังเกตได้เมื่อผู้สูงอายุมีปัญหาการได้ยิน ได้แก่
มักถามซ้ำบ่อยๆ เมื่อมีคนพูดด้วยหรือโต้ตอบไปคนละเรื่อง
พูดเสียงดัง เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง
เปิดวิทยุ หรือโทรทัศน์เสียงดังขึ้น
การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะหูตึง ควรปฏิบัติดังนี้


อธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจสาเหตุของปัญหาการได้ยิน อันตราย และการรักษา
หากมีปัญหาการได้ยิน แต่ยังสื่อสารกับผู้อื่นได้หรือเป็นแค่หูข้างเดียว อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ
หากมีปัญหาการได้ยินมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเป็นทั้ง 2 ข้าง และไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง
หากปัญหาการได้ยินเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น ดังนี้* หลีกเลี่ยงเสียงดัง* ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ต้องควบคุมโรคให้ดี* หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู* ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา งดการสูบบุหรี่* ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว การให้ความรัก ความเข้าใจ ผู้สูงอายุในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้