ฟกช้ำดำเขียว ควรประคบร้อนหรือเย็น แบบไหนดีกว่ากัน


อุบัติเหตุบางอย่างแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นมีบาดแผลหรือมีเลือดไหล แต่ก็สามารถทิ้งร่องรอยฟกช้ำเอาไว้ที่ผิวหนัง และตามมาด้วยอาการปวดอักเสบกวนใจ รอยช้ำที่เห็นเป็นจ้ำๆ นั้น เกิดขึ้นจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกและทำให้เลือดไหลออกมาอยู่บริเวณเนื้อเยื่อโดยรอบ โดยส่วนมากจะเกิดจากการกระทบกับของแข็งต่างๆ รวมถึงการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่มีการปะทะ


สาเหตุที่สีของรอยฟกช้ำที่เปลี่ยนไป 
จะเห็นได้ว่าหลังเกิดเหตุใหม่ๆ รอยฟกช้ำใต้ผิวหนังจะเป็นสีแดงชัดเจน เพราะเลือดที่ไหลออกจากเส้นเลือดฝอยยังมีออกซิเจนอยู่ในปริมาณมาก ก่อนที่ 3 ชั่วโมงให้หลังออกซิเจนจะหมดไปจนทำให้มองเห็นเป็นสีม่วง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และน้ำตาลตามลำดับ


ฟกช้ำต้องประคบแบบไหน? จึงได้ผลดีมากกว่ากัน
การรักษาด้วยวิธีการประคบนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประคบร้อนหรือประคบเย็น ล้วนมีประโยชน์ในทางการรักษาด้วยกันทั้งคู่ แต่จะต่างกันก็ตรงระยะเวลาที่จะเลือกใช้ เพราะตามหลักแล้ว หลังจากเกิดเหตุทันทีไปจนถึง 48 ชั่วโมงหลังจากนั้น วิธีที่ถูกต้องคือ การประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการ ช่วยให้หลอดเลือดหดตัวและเลือดที่ไหลออกจากเส้นเลือดฝอยที่ฉีกขาดลดน้อยลง ส่งผลให้อาการอักเสบลดน้อยลงตามไปด้วย โดยให้ผู้ป่วยพักการเคลื่อนไหวในบริเวณที่ฟกช้ำจะดีที่สุด และประคบเย็นซ้ำเป็นระยะๆ ครั้งละประมาณ 15-20 นาที รวมถึงการยกอวัยวะที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับของหัวใจ เช่น หากเป็นที่ขา ให้นั่งยกขาขึ้นพาดบนเก้าอี้เพื่อจำกัดการไหลเวียนของเลือดซึ่งลดการอักเสบบวมได้


จากนั้นเมื่อพ้น 48 ชั่วโมงไปแล้ว ให้เปลี่ยนมาใช้ วิธีประคบร้อน โดยการประคบครั้งละ 10-20 นาที เพื่อช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนได้ดี ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้เร็วและหายจากการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดสีฟกช้ำที่เกิดขึ้นให้จางลงในที่สุด


อาหารช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นได้
นอกจากวิธีจากภายนอกแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเองจากภายในได้เร็วยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคในปริมาณมาก เช่น ผักคะน้า บลอกโคลี ถั่วเหลือง ผักกาดหอม สตรอว์เบอร์รี ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น เลือกรับประทานผลไม้อย่างสับปะรดที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสี (Zinc) เช่น ผักโขม เมล็ดฟักทอง และพืชตระกูลถั่ว เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาซ่อมแซมให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติให้เร็วขึ้น


หากสังเกตเห็นว่ารอยฟกช้ำไม่ดีขึ้น มีอาการบวม อักเสบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณว่า ผู้ป่วยควรจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท