รู้ทันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดไหลไม่หยุด อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

“ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” (Thrombocytopenia) เป็นกลุ่มอาการที่ไม่นับว่าเป็นโรค แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคบางชนิดในร่างกาย หากแพทย์ระบุว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำนั้นแสดงว่าเป็นสัญญาณสำคัญที่คุณต้องหันกลับมาใส่ใจดูแลร่างกายให้มากขึ้นเป็นพิเศษ ยิ่งหากเคยมีจ้ำเลือดเป็นจุดๆ ตามร่างกาย หรือเลือดออกตามไรฟันบ่อยๆ แล้ว ยิ่งต้องทำความรู้จักกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำนี้ให้มากยิ่งขึ้น


เกล็ดเลือด (Platelet) คืออะไร?
“เกล็ดเลือด” คือ เซลล์หรือแผ่นเซลล์บางๆ ที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของเม็ดเลือดที่สร้างจากไขกระดูกและจะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด โดยมีอายุประมาณ 10 วัน ก่อนจะถูกส่งไปทำลายที่ม้ามและตับ


เกล็ดเลือดสำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
เกล็ดเลือดเป็นกลไลหนึ่งในเซลล์เม็ดเลือดทำหน้าที่ห้ามเลือด ป้องกันไม่ให้เลือดออกมากเกินไปในกรณีที่มีบาดแผล หรือภาวะเลือดออก โดยเกล็ดเลือดมีกระบวนการทำงาน ดังนี้
1.เยื่อบุผิวหลอดเลือดจะหลั่งสารมากระตุ้นเกล็ดเลือด
2.เกล็ดเลือดจำนวนมากมารวมตัวเกาะกลุ่มกันบริเวณที่มีแผล
3.จากนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดบริเวณบาดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลได้


ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากอะไร?
โดยปกติเกล็ดเลือดของเราจะถูกสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ภายในไขกระดูก ซึ่งระดับเกล็ดเลือดที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติจะอยู่ที่ จำนวน 150,000– 450,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ถ้าต่ำกว่านี้จะถือว่าคุณมีค่าระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.การผลิตเกล็ดเลือดลดลง มักเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคเลือดจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
2.เกล็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติ เช่น เกล็ดเลือดถูกภูมิคุ้มกันทำลายเมื่อร่างกายติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีน, โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเกล็ดเลือดถูกใช้ไปมากเพื่อช่วยหยุดเลือดจากการที่ร่างกายมีเลือดออกมากและติดเชื้อรุนแรง
3.มีภาวะโรคตับ ส่งผลให้ม้ามโตและทำให้ม้ามกักเก็บเกล็ดเลือดไว้มากเกินไป เมื่อทำการตรวจเลือดจึงพบว่า เกล็ดเลือดหมุนเวียนในร่างกายลดลง หรือเกล็ดเลือดต่ำนั่นเอง


ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีอาการเป็นอย่างไร?
ในระยะเริ่มต้นมักจะไม่พบอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่หากตรวจวัดค่าเกล็ดเลือดแล้วมีระดับเกล็ดเลือดที่น้อยกว่า 30,000 เซลล์/ไมโครลิตร ร่างกายจะมีอาการ ดังนี้
- มีจ้ำเลือดตามร่างกาย โดยที่ยังไม่ได้รับการกระทบกระแทกจากสิ่งใด
- เลือดออกตามไรฟัน
- เลือดกำเดาไหล
- มีประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะ หรืออุจจาระเป็นเลือด


ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอันตรายมากไหม?
อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดหากเกิดภาวะ “เกล็ดเลือดต่ำ” คือภาวะแทรกซ้อน หรือภาวะที่มีเลือดออกจากอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น มีเลือดออกในสมอง หรือในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากพบอาการที่บ่งชี้ได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด


ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่ควรพบแพทย์ทันที!
หากร่างกายมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจนเกิดอาการเหล่านี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบมาพบแพทย์ทันที
- เลือดออกช่องปาก หรือเหงือก
- เลือดกำเดาไหล
- อาเจียนเป็นเลือด
- เลือดออกจากช่องคลอด
- ปวดศีรษะตลอดเวลา
- ตาพร่ามัว
- ปวดท้อง


ถึงแม้คุณจะพบว่าร่างกายมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเล็กน้อย ไม่รุนแรงจนถึงขั้นมีอาการเลือดออกไม่หยุด แต่ก็ไม่ควรละเลย แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาความเสี่ยงกับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต


https://www.vimut.com/article/Thrombocytopenia