ไทยกับอนาคตยารักษามะเร็ง เพิ่มโอกาสเข้าถึงยา

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

รู้หรือไม่ในจำนวนประชากรไทย 1 แสนคนจะมีผู้ชาย 169.3 คน และผู้หญิง 151 คนป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย

          จากสถิติพบว่า ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่วันละ 336 คน หรือ 122,757 ต่อปี เสียชีวิตวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็งที่พบมากในเพศชายคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี ส่วนมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงคือ มะเร็งเต้านม
          องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 โดยที่ในปี 2018 มีผู้คนประมาณ 9.6 ล้านคน สูญเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง หรือประมาณ 1 ใน 6 ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ถ้าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า ทั่วทั้งโลกอาจจะมีผู้ป่วยจากโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นอีก 60% โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำจะเพิ่มสูงถึง 81%
          ที่น่าเศร้าคือ กลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งอยู่ในระดับต่ำที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะกว่า 90% ของกลุ่มประเทศรายได้สูง มีบริการรักษา โรคมะเร็งที่ครอบคลุมอยู่ในระบบสาธารณสุข ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำนั้นน้อยกว่า 15% เพราะทุ่มทรัพยากรด้านสาธารณสุขไปกับการต่อสู้ กับโรคพัฒนาสุขภาวะของแม่และเด็ก
          สาเหตุของโรคมะเร็งนั้น แบ่งเป็น 2 ปัจจัยคือ เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือภายนอกร่างกายและความผิดปกติในร่างกาย โดยปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด
          เนื่องจาก 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เกิดจากการมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นหนึ่งในการที่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคได้ส่วนหนึ่ง
          ในแง่ทิศทางการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีตั้งแต่การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy)การฉายแสง (Radiotherpy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy) โดยประเทศไทยต้องนำเข้ายารักษามะเร็งจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าต่อปีมากกว่า 21,000 ล้านบาท
          ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวถึงโอกาสของ คนไทยในการเข้าถึงกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงว่าจากข้อมูลของปี 2562 ในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย มีรายการยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงเพียง 7 รายการจาก 28 รายการ โดยมีมูลค่าในการจัดหายาถึง 473 ล้านบาทต่อปี หรือ 50.12% ของมูลค่า การจัดซื้อยาบัญชี จ(2) หรือกลุ่มยาที่หายากหรือราคาแพงและมีการจัดการให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถเข้าถึงยาได้อย่างเสมอภาค
          ความท้าทายที่เกิดขึ้นก็คือ ประเทศไทยจะพัฒนาสิทธิประโยชน์รักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาชนิดนี้มากขึ้นได้อย่างไร รวมถึงในแง่ของความยั่งยืนด้านงบประมาณของหลักประกันสุขภาพและประเทศได้อย่างไร
          เมื่อไม่นานมานี้ องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับ ปตท. พัฒนาโครงการ โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งทั้งยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy)
          โดยดำเนินการวิจัย พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลก พร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ขึ้นมาโดยเฉพาะ เน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัดและกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง ประกอบด้วย ยาชนิดเม็ดประเภท Tyrosine KinaseInhibitors (TKIs) ซึ่งเป็นยาชนิด Small Molecule สามารถแพร่เข้าเซลล์และจับกับเป้าหมายภายในเซลล์ได้โดยตรง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal Antibodies (Biosimilar) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้แต่จะไปจับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์
          โรงงานนี้จะมีมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากลสามารถรองรับและต่อยอดงานวิจัย จากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยที่ ปตท. ได้นำศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรม ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการมาสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานให้ แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลาดที่ ทั้ง อภ. และ ปตท. มี เพื่อให้โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งของไทยแห่งนี้เกิดการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้คนไทยได้ใช้ยาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีความมั่นคงทางยา สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
          โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด (Detailed Feasibility Study) คาดว่าใช้เวลาประมาณ 14 เดือนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปี 2565 เพื่อให้สามารถทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570
          จากรายงานประมาณการมูลค่าการตลาดของยามะเร็งในระดับโลก ได้คาดการณ์ว่าในปี 2567 ตลาดยามะเร็งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.68 พันล้านบาท จากเดิมที่ในปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.12 พันล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดยามะเร็งที่น่าจะเป็นที่ต้องการมากคือ ยารักษามะเร็งแบบจำเพาะเจาะจง อ้างอิงจากผลการศึกษาในไต้หวัน ระหว่างปี 2552-2555 มูลค่าการจำหน่ายยาเคมีบำบัด มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่ายารักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เพิ่มขึ้นจาก 6.24% ในปี 2552 เป็น 12.29% ในปี 2555