แพทย์ผิวหนังแนะโรคชราในวัยเด็ก โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย

กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง

          กรมการแพทย์  โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผยโรคชราในวัยเด็ก เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ผิวหนังมีลักษณะย่นคล้ายคนแก่  พบได้ในเด็ก  สาเหตุเกิดจากพันธุกรรมที่เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อยืดหยุ่นในผิวหนังชั้นหนังแท้  เป็นโรคที่พบได้น้อยมากประมาณหนึ่งในล้านของประชากรทั่วไป พร้อมแนะอาการทางผิวหนัง  ชี้สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่นได้  หากมีอาการผิดปกติที่ผิวหนังย่นคล้ายคนแก่ควรรีบพบแพทย์ 

         นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคชราในวัยเด็กเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของของเนื้อเยื่อยืดหยุ่นในผิวหนังชั้นหนังแท้  ที่ทำหน้าที่เกาะเกี่ยวให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง มีความแข็งแรง และยืดหยุ่น เป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ทั้งแบบยีนเด่น และยีนด้อย  การถ่ายทอดแบบยีนด้อยเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด  อาการทางผิวหนัง มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ผิวหนังมีอาการหย่อนคล้อย  เหี่ยวย่นคล้ายคนแก่  มักไม่ค่อยคืนตัวหรือคืนตัวช้าเมื่อดึงผิวหนังยืดออก   ทำให้ดูแก่ก่อนวัย อาการไม่ได้จำกัดที่ผิวหนังอย่างเดียวแต่เป็นได้ทุกที่  ความรุนแรงแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของโรค เช่น บางรายอาจมีแค่รอยเหี่ยวย่น หรือบางคนอาจมีอาการหนักในหลายระบบตั้งแต่แรกเกิด

          แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการทางระบบอื่นขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และระดับความรุนแรงแต่ละราย ไม่จำเป็นต้องพบทุกราย ได้แก่มีอาการสายตาสั้นและตาเหล่ ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจโต เกิดภาวะถุงลมโป่งพอง เกิดกระเปาะลำไส้ เกิดกระเปากระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้าอกยุบตัวหรือโป่งขึ้น เด็กมีการพัฒนาการล่าช้า ทรงตัวผิดปกติและเดินเซ เป็นต้น
          ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำเพิ่มเติมว่า โรคชราในวัยเด็กปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการตามระบบที่ตรวจพบ เน้นการบรรเทาภาวะแทรกซ้อน สำหรับการรักษาอาการทางผิวหนัง การฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน การผ่าตัดเอาผิวหนังที่หย่อนยานออกสามารถทำได้เหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป สำหรับระบบอื่นๆ การเฝ้าระวังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ การตรวจหาผลแทรกซ้อนเพื่อวินิจฉัยได้เมื่อเป็นน้อย และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที