สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีแนะวิธีการดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาการดูดกลืน

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า ปัจจุบันภาวะที่ทารกคลอด เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์มีมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงจำเป็นต้องตระหนักและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด มักมีน้ำหนักตัวน้อย
มีการเจริญเติบโตในครรภ์น้อยกว่าปกติ อวัยวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทที่ควบคุมการดูดกลืนรวมทั้งระบบทางเดินอาหารเติบโตไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลืนของทารกจะประสานสัมพันธ์กันดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์จะสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุครรภ์ 36 - 37 สัปดาห์ การกระตุ้นการดูดกลืนเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนดดูดนมได้เร็วขึ้น


นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวิกฤติของทารกที่เกิดก่อนกำหนด จำเป็นต้องใช้สายยางเพื่อให้อาหารในขณะที่ทารกปกติทั่วไปสามารถรับอาหารได้ทางปาก จึงทำให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดขาดประสบการณ์ในการดูดกลืน เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบและในปากไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่แข็งแรงส่งผลต่อภาวะทางโภชนาการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกการดูดกลืนตั้งแต่เริ่มหลังผ่านพ้นวิกฤต ซึ่งพยาบาลจะแนะนำวิธีการนวดกระตุ้นการดูดกลืนเบื้องต้นด้วยการใช้มือ และสอนผู้ปกครองให้ทำได้เองก่อนทารกจะกลับบ้าน การนวดสัมผัสด้วยนิ้วมือบริเวณรอบและในปากของทารก จะช่วยกระตุ้นการรับรู้และเรียนรู้ถึงการเคลื่อนไหวของอวัยวะในช่องปากได้อย่างถูกต้อง ผู้ปกครองสามารถทำได้เอง เริ่มต้นด้วยการตัดเล็บให้สั้นและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ควรนวดกระตุ้นก่อนให้นมในแต่ละมื้อ ไม่นวดหลังมื้อนมทันที ทารกบางรายอาจกลับบ้านพร้อมสายให้อาหาร ควรป้อนนมทางปากและทางสายด้วยปริมาณที่แพทย์กำหนด หากพบว่าเด็กสำลักน้ำลายหรือนม หรือหลังดูดนมมีอาการ หายใจเร็ว เสียงครืดคราด
ค่าออกซิเจนในเลือดลดลงมากกว่า 3% ให้สงสัยว่ามีจะมีปัญหาการดูดกลืน ควรป้อนทีละ1-2 คำ รอให้กลืนหมดจึงป้อนคำต่อไป และมาพบกุมารแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและวางแผน


การบำบัดรักษาโดยนักกิจกรรมบำบัดจะออกแบบการบำบัดที่เหมาะสมต่อไป เช่น การปรับระดับความรู้สึก
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การใช้ดนตรีบำบัดร่วมกับการกระตุ้นดูดกลืน การปรับความหนืดของอาหาร เป็นต้น
บางรายอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินหายใจ และ ทางเดินอาหารร่วมด้วยหากมีภาวะเสมหะมาก
หรือแหวะนมบ่อย การดูแลให้เด็กดูดกลืนอาหารที่ดีจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น
หลอดลมอักเสบ ปอดติดเชื้อ น้ำหนักตัวและความสูงไม่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่งผลให้เด็กมีภาวะโภชนาการทีดี
และเติบโตได้สมวัย


******************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #ปัญหาการดูดกลืน
19 กุมภาพันธ์ 2567