ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือ ระบบฮอร์โมน มีลักษณะคือ พบถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ และมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยภาวะนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง รวมถึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงช่วงอายุน้อยๆ หรือเป็นวัยที่ยังไม่หมดประจำเดือน
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
* เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีถุงน้ำเล็กๆ ในรังไข่เป็นจำนวนมาก
* พบได้ร้อยละ 5-10 ในเพศหญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน
* เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก
* ในระยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ ภาวะไขมันในเลือดสูง
เช็คสัญญาณของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
* ประจำเดือนผิดปกติ มาช้า มาห่าง มีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี หรือไม่มีประจำเดือนนาน 3-4 เดือน
* ผิวมัน มีสิว
* ขนดกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
* ผมบางหรือศีรษะล้าน
* มีรูปร่างอวบไปจนถึงมีภาวะอ้วน อ้วนลงพุงหรือมีรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร ในสตรีไทย
* มีรอยปื้นดำบริเวณรอยพับหลังคอ ข้อพับ รักแร้ หรือมีติ่งเนื้อ
* มีน้ำหนักเกินค่าดัชนีมวลกาย (เกณฑ์ BMI 25 ขึ้นไป) หรือมีรูปร่างอวบไปจนถึงมีภาวะอ้วน
แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้อย่างไร
เช็ค ระดูมาไม่ปกติ ผิวมัน สิวเยอะ ผมบาง ขนดก อาจเป็นอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
การตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลจากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ประกอบกับการตรวจร่างกายซึ่งได้แก่
1.ตรวจเช็คภายใน (Pelvic exam)
2.อัลตราซาวน์ (Ultrasound) เป็นการตรวจสอบโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อแสดงภาพของอวัยวะภายในว่ามีความผิดปกติของขนาดหรือไม่
3.การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
การรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
* ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อเพิ่มแบคทีเรียดีในลำไส้
* สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน การลดน้ำหนักลงมา 5-10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยให้อาการผิดปกติดีขึ้น
* แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละราย เช่น การให้ฮฮร์โมนเพื่อปรับประจำเดือนให้มาตามปกติ หรือรับประทานยากระตุ้นไข่ในกรณีต้องการมีบุตร เป็นต้น
ข้อมูลจาก : รพจุฬาฯ