สธ. เผย หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการฝากครรภ์คุณภาพมากขึ้น เร่งคัดกรองภาวะโลหิตจาง ค้นหาโรคธาลัสซีเมีย ส่งเสริมเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ

กระทรวงสาธารณสุข เผย หญิงตั้งครรภ์ไทยเข้าถึงบริการการฝากครรภ์คุณภาพมากขึ้น โดยฝากท้องเร็วก่อน 12 สัปดาห์ ส่งผลให้การคัดกรองภาวะโลหิตจางธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 29.45 เป็น 30.89 เร่งพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี ป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย พร้อมจัดสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 25 เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น นำเสนอผลงานวิชาการ นำไปสู่การให้บริการ การป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย


วันนี้ (27 มีนาคม 2567) พลเรือโท นายแพทย์นิกร เพชรวีระกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ จัดงานสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติในครั้งนี้ ร่วมกับกรมการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ซึ่งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางตั้งแต่กำเนิดและเป็นเรื้อรังไปตลอดชีวิต มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ระดับรุนแรงน้อย จนถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่มีการควบคุมและป้องกันโรค จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้


“องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันธาลัสซีเมียโลก (World Thalassemia Day) เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังบุตรได้ โดยในปี 2537 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำแนวทางในการควบคุมโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบิน รวมถึงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ทำให้ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา และจากสถานการณ์ประเทศไทยประสบปัญหาการเด็กเกิดน้อย โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนการเกิดต่ำกว่า 5 แสนราย ดังนั้น ทุกการเกิดต้องมีคุณภาพ ที่เกิดจากการวางแผนและเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ทุกการเกิดสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และในปี 2567 รัฐบาล โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ที่มีคุณภาพให้หน่วยบริการ ได้จัดให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการบริการอนามัยแม่และเด็ก รวมถึงการคัดกรองโรคต่าง ๆ ตามมาตรฐาน” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


ทางด้าน นายแพทย์ เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการเกิดน้อยของประเทศไทยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น แนวโน้มการใช้ชีวิตอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้า ชะลอการมีบุตร หญิงตั้งครรภ์ และครอบครัวขาดความรู้ในการดูแลตนเองทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมีนโยบายว่า “รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร และการเกิดทุกรายมีการวางแผนมีความตั้งใจและมีความพร้อมในทุกด้าน นําไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
“ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์งานอนามัยแม่และเด็กจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้น โดยข้อมูลจากกองบริหารสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ครั้งแรก เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 75.05 หญิงหลังคลอดได้รับการดูแลครบ 3 ครั้ง ตามเกณฑ์ร้อยละ 64.27 จากการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มากขึ้นของหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งการสื่อสารให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบาย แนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โดยบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหญิงตั้งครรภ์ให้มีการคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ และสามีที่มาฝากครรภ์ทุกราย ส่งผลให้พบหญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 29.45 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 30.89 ในปี 2566 ทั้งนี้ จากสิทธิประโยชน์ดังกล่าว กรณีที่มีการวินิจฉัยว่าทารกเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมีย สามารถวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ ตั้งแต่การยุติการตั้งครรภ์ การให้เลือด การให้ยาขับธาตุเหล็ก การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กรมอนามัย / 27 มีนาคม 2567