หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อ “โรคไส้เลื่อน” กันมานาน และคงมีจำนวนไม่น้อยที่คิดกันไปต่างๆ นานาว่าไส้เลื่อนเป็นโรคที่มีความอันตรายและเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชายเพียงเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วไส้เลื่อนสามารถเกิดในผู้หญิงได้เช่นกัน แต่สัดส่วนการเกิดโรคไส้เลื่อนของผู้ชายและผู้หญิงอยู่ที่ 5 ต่อ 1 แต่ถึงอย่างนั้นคุณผู้หญิงก็ไม่ควรชะล่าใจกับโรคนี้
ความหมายของ “ไส้เลื่อน”
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนที่ไปอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่ง และทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ให้ลองนึกถึงยางรถยนต์ที่มียางนอกและยางใน หากยางนอกมีรู ยางในซึ่งสูบลมไว้แน่นก็จะโป่งยื่นออกมาตามรูนั้น ซึ่งอาการแบบนี้เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิดหรืออาจเกิดภายหลังจากการผ่าตัด รวมถึงภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้องเนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ การเบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก
อาการแบบไหน..ที่บอกว่าคุณกำลังเป็นไส้เลื่อน
หลายครั้งที่คนเป็นไส้เลื่อนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีภาวะไส้เลื่อนอยู่ เพราะไส้เลื่อนจะไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน มีเพียงบางรายเท่านั้นที่มีความรู้สึกเจ็บ หรือปวดบริเวณขาหนีบ แต่ก็เป็นๆ หายๆ หรืออาจจะปวดรุนแรงแบบทันทีทันใดก็ได้ แม้ว่าไส้เลื่อนจะเป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตราย แต่หากปล่อยไว้นานก็อาจทำให้ลำไส้อุดตันและขาดเลือดจนอันตรายถึงชีวิตได้
ประเภท & ตำแหน่งของการเกิดโรค
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องตั้งแต่กำเนิด โดยลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ แต่บางกรณีลำไส้อาจเคลื่อนตัวแต่ไม่ติดคายังบริเวณที่เกิด อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบมักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วงๆ หรือปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นหรือเห็นได้ชัดหากออกกำลังกาย หรือเกิดอาการ ไอ จาม และถึงแม้ว่าไส้เลื่อนที่ขาหนีบจะพบได้ในผู้ชายมากกว่า แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นลักษณะเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ มีโอกาสในการเกิดน้อยกว่าบริเวณขาหนีบ มักเกิดอาการปวดบริเวณต้นขา และอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วย
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ สามารถพบได้ในเพศชายเป็นส่วนมาก เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อและพังผืดของผนังหน้าท้องที่อยู่เหนือสะดือไม่แข็งแรง เมื่อเกิดความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้ไส้เลื่อนไปดันออกมาตุงที่หน้าท้องเป็นก้อนโป่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อไขมันภายในช่องท้อง
- ไส้เลื่อนข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง มักเกิดกับคนในวัยกลางคนเป็นต้นไป เกิดจากชั้นพังผืดบริเวณข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้องเกิดความหย่อนยานไม่แข็งแรง เมื่อความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวดันออกมาบริเวณข้างท้องปรากฏให้เห็นเป็นก้อน
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน เกิดจากบางส่วนของสำไส้เคลื่อนที่ผ่านรูที่อยู่ตรงกระดูกเชิงกราน ส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิงเพราะลักษณะของกายวิภาคบริเวณเชิงกรานของผู้หญิงเอื้อต่อการเกิดมากกว่าในเพศชาย
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังจากการผ่าตัด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณช่องท้องมาก่อนทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องในบางกรณี เพราะหลังจากการผ่าตัดช่องท้อง กล้ามเนื้อและพังผืดของหน้าท้องในบริเวณที่มีการผ่าตัดจะเกิดหย่อนยานมากกว่าปกติ ทำให้ลำไส้สามารถดันตัวออกมาตุงเป็นก้อนบริเวณที่มีการผ่าตัดได้
แม้ส่วนใหญ่แล้วอาการไส้เลื่อนนั้นไม่ใช่อาการที่เป็นอันตรายมากนัก เพียงแต่อาจจะสร้างความรำคาญและอาจทำให้รู้สึกไม่คล่องตัวได้ แต่ไส้เลื่อนบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อันตรายได้ ดังนั้นหากพบว่าเป็นไส้เลื่อนก็ไม่ควรปล่อยไว้ ควรเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา
ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.เปาโล