รู้จักผดร้อน ผื่นคันยุบยิบ อาการกวนใจในหน้าร้อน

เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนร่างกายของเราต้องปะทะกับอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในปัญหาผิวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนก็คือ “ผดร้อน” โดยเฉพาะคนที่มีผิวแพ้ง่ายและมีอาการเหงื่อออกมากต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ! หากไม่อยากพบกับปัญหาผดขึ้นจนมีอาการคันยุบยิบจนเสียความมั่นใจ หรือหากมีอาการแล้วอยากรู้จักวิธีดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามมาดูกันที่บทความนี้ได้เลย
ผดร้อน (Prickly heat or Miliaria) คืออะไร? ทำไมอากาศร้อนแล้วผดขึ้น!


ผดร้อนเป็นอาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและอับชื้นทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้ปกติ ส่งผลให้เกิดเป็นผดบริเวณต่างๆ ตามร่างกาย เช่น ใบหน้า หน้าอก ลำคอ ตามข้อพับต่างๆ และแผ่นหลัง ซึ่งนอกจากอากาศร้อนแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดผดร้อนร่วมด้วย ได้แก่
* เหงื่อออกตามร่างกายหลังออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา
* มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
* ผดร้อนในเด็กแรกเกิด เนื่องจากมีท่อเหงื่อที่ยังไม่สมบูรณ์
* สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปเกินไป
* ใช้ผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวเนื้อหนัก ไม่เหมาะกับอากาศร้อน


ผดร้อนมีอาการอย่างไร 
อาการของผดร้อนที่พบเห็นได้ทั่วไป จะมีลักษณะเป็นตุ่มผดเล็กๆ เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณใต้ร่มผ้าที่มีความอับชื้นและอาจมีอาการแสบ คัน ตามมาได้ด้วย แต่ทั้งนี้ผดร้อนสามารถเกิดขึ้นได้หลายชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันตามระดับความลึกของการอุดตันในต่อมเหงื่อ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ชนิดที่ 1 : Miliaria cystallina ผดชนิดนี้มีการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับตื้นที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆ ขนาดเล็ก ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร แตกง่ายเมื่อสัมผัสหรืออาบน้ำ ไม่คันและสามารถหายเองได้
ชนิดที่ 2 : Miliaria rubra ผดร้อนชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด เป็นการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับกลางของชั้นผิวหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นผื่น ตุ่มแดงขนาดเล็กประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีอาการคัน บางครั้งอาจแสบร้อนได้
ชนิดที่ 3 : Miliaria pustulosa เป็นผดร้อนชนิดลุกลามที่กินเวลานานจนทำให้เกิดเป็นตุ่มหนอง และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียที่มาจากการเกาได้อีกด้วย
ชนิดที่ 4 : Miliaria profunda ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดมาจากผดร้อนที่เป็นเรื้อรัง มีอาการเป็นแล้วเป็นอีกเรื่อยๆ จนกลายเป็นการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับลึกที่สุด ซึ่งมีลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาด 1-3 มิลลิเมตร


อาการผดร้อนแบบไหนที่รุนแรงและควรต้องไปพบแพทย์ !
ปกติแล้วผดร้อนเป็นอาการที่สามารถรักษาด้วยตนเองได้และไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
* ผดร้อนไม่ยอมหาย เป็นติดต่อกันต่อเนื่อง 2-3 วัน ยังรู้สึกแสบคันและเจ็บปวด
* มีไข้ เจ็บบริเวณที่เป็นผดร้อนมากผิดปกติ
* มีหนองออกมาจากแผลผดร้อน
* มีอาการผดร้อนขึ้นบ่อยๆ หรือเป็นแล้วเป็นอีก


วิธีรักษาผดร้อนด้วยตัวเองเบื้องต้น
เมื่อพบว่ามีผดขึ้นและมีอาการคันตามร่างกาย สามารถใช้วิธีรักษาผดร้อนเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการและลดการลุกลามได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
อาบน้ำเย็นให้ร่างกายสะอาด
ทาคาลาไมน์ หรือแป้งเย็นบรรเทาอาการแสบ คัน
หลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศร้อนชื้น
สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
ประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนังเพื่อช่วยลดความร้อน


วิธีป้องกันไม่ให้เกิดผดร้อนตามร่างกาย
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผดร้อนและลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคผิวหนังอื่นๆ คุณสามารถป้องกันตัวเองได้ดังนี้
ดูแลความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ อาบน้ำให้สะอาด เช้า-เย็น
ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิวหนัง ทั้งสบู่และโลชั่นทาผิว
สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
หลีกเลี่ยงการทำงาน หรือออกกำลังกายกลางแจ้งที่ทำให้เหงื่อออกมาก
อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น มีความปลอดโปร่ง หรือมีเครื่องปรับอากาศ
ถึงแม้ว่าผดร้อนจะไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายจนถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคใกล้ตัวที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะอาการแสบคันใต้ร่มผ้ามักสร้างความกวนใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ ยิ่งในหน้าร้อนของประเทศไทยเรามักจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก สิ่งสำคัญจึงเป็นการป้องกันด้วยการรักษาความสะอาดร่างกายเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้ร่ายกายชุ่มเหงื่อนานๆ และอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่งจะดีต่อสุขภาพผิวหนังมากที่สุด



ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต
ผู้เขียน
พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ