แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สั่งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องและประชาชนเข้าใกล้สถานที่เกิดเหตุเป็นระยะระยะทาง 1 กิโลเมตร กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จึงสั่งการให้กรมการแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน เนื่องจากก๊าซแอมโมเนียมีส่งผลต่อร่างกายพบอาการเฉียบพลัน ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ คือ มีอาการไอและมีหลอดลมตีบ อาการทางเดินหายใจส่วนบนบวมหรือไหม้ หายใจดังวี๊ด หอบเหนื่อย หรือขาดออกซิเจนได้ ดวงตา คือ ส่งผลให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ น้ำตาไหล ระคาย เคืองกระจกตา ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ ผิวหนัง คือ เกิดการระคายเคืองหรือไหม้ได้ สำหรับอาการระยะยาว ได้แก่ ผู้ที่สัมผัส (มักพบในกรณีผู้ทำงานในโรงงาน) เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยขึ้น เอกซเรย์ปอดผิดปกติหรือตรวจการทำงานปอด ผิดปกติ มีรายงานการเกิดพังพืดในปอด ทั้งนี้ ในส่วนของอุบัติภัยการรั่วไหลมักจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยเพื่อความปลอดภัย
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หากประชาชนประสบกับเหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้ มีข้อแนะนำในการปฐมพยาบาล การสูดดมแอมโมเนียเข้าไป ได้แก่ 1. รีบนําผู้ประสบเหตุออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่บริเวณเหนือลม และมีอากาศถ่ายเท สะดวกโดยเร็วที่สุด 2. ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ 3. ถ้ายังหายใจ ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวม ปลดเข็มขัดหรือเสื้อชั้นใน ถ้ามีเหงื่อออก ให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มนํ้าหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ถ้าหายใจขัดควรให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอด ด้วยวิธีเปาปาก 4.หากผู้ประสบเหตุหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิด มีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียว (One-way valve) หากการสัมผัสทางผิวหนัง ควรถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออกให้หมด ล้างด้วยนํ้าให้มาก ๆ อย่างน้อย 15 นาที ล้างบริเวณที่สัมผัสถูกสารด้วยนํ้าที่ไหลผ่านจํานวนมากจนแน่ใจว่าออกหมด กรณีการรับสารทางปาก ให้ดื่มนํ้ามาก ๆ ห้ามทําให้อาเจียน ถ้าหมดสติ ควรจัดให้นอนหงายราบเอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งสังเกตการหายใจ และจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทําการปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต และรีบนําส่งโรงพยาบาลทันที และหากสารเข้าดวงตา ควรตะแคงเอียงหน้าเอาคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) แล้วล้างตาด้วยนํ้าสะอาดจํานวนมากจากหัวตามาหางตาจนกว่า จะไม่เคืองตา ห้ามขยี้ตา ควรล้างนํ้าอย่างน้อย 30 นาที แล้วรีบนําส่งโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน
สำหรับวิธีการรักษา เป็นการรักษาตามอาการและไม่มียาต้านพิษเฉพาะ
นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์มีสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่ประสบเหตุและประชาชนในพื่นที่โดยรอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อประสานงานหรือขอข้อมูลได้ที่ 0-2517-4333